Friday, May 9, 2014

Dog War ยุติสงคราม 4 ขา ใน 5 ขั้นตอน




         ครั้งที่สามแล้วที่ผมเย็บแผลฉีกขาดจากการกัดกันให้สุนัขตัวนี้ ปัญหาเดิม ๆ คือ สุนัขกัดกับสุนัขอีกตัวในบ้าน ยังไม่นับการเป็นแผลเล็กแผลน้อยอีกหลายต่อหลายครั้ง หากใครประสบกับปัญหาเดียวกันคงไม่แปลก หากเริ่มหมดความอดทน ในใจคงคิดว่าจะจัดการอย่างไรดี ระหว่างยกสุนัขอีกตัวไปให้คนอื่น แยกบริเวณกันเลี้ยงไปเลยแบบตลอดชีวิตนี้ไม่ต้องเจอหน้ากันอีก หรือปล่อยไปตามยถากรรมให้กัดกันไป เป็นแผลเมื่อไหร่ก็ค่อยพาไปหาหมอ ใจเย็น ๆ ก่อนนะครับ อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจหากคุณยังไม่เข้าใจสาเหตุว่าทำไมสุนัขในบ้านของคุณถึง ต้องทะเลาะกันเอง ผมมีคำแนะนำสำหรับแนวทางการปรองดองของสุนัขภายในบ้าน และเชื่อว่าน่าจะพอแก้ปัญหาได้หาก "สงคราม 4 ขา" ในบ้านของคุณยังไม่รุนแรงเกินไป
 
ชนวนสงคราม

           สุนัขเพศเดียวกันมีโอกาสที่จะทะเลาะกันได้มากกว่า โดยจะเริ่มเกิดปัญหาเมื่อสุนัขอายุได้ 6 ถึง 12 เดือน หรือเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ปัญหาจะค่อยๆ รุนแรงขึ้นเมื่อสุนัขอายุ 1 ถึง 3 ปี หากยิ่งมีความสับสนเกี่ยวกับสถานภาพของสุนัขภายในบ้าน จากการที่มีสุนัขป่วย แก่ เสียชีวิต หรือหายไปจากบ้าน (เช่น ไปนอนโรงพยาบาล) เป็นระยะเวลานานๆ จะยิ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้สุนัขทะเลาะกันได้ง่ายขึ้นโดยปัจจัยกระตุ้น ในการกัดกันแต่ละครั้งมักมาจากอาหาร ของเล่น นม ความใกล้ชิดเจ้าของ การหวงพื้นที่ การอยู่ใกล้กันในพื้นที่แคบๆ หรือมีสุนัขตัวใดตัวหนึ่งอยู่ในสภาวะที่ตื่นเต้นมากเกินไป

           ลูกสุนัขที่ขาดการเรียนรู้การเข้าสังคม ในช่วงอายุ 3 ถึง 12 สัปดาห์ ไม่เคยเจอสุนัขตัวอื่นเลย มักแสดงความก้าวร้าวต่อสุนัขตัวอื่นได้ง่าย และมักหลบเลี่ยงที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับสุนัขตัวอื่น

 
5 ขั้นตอนในการแก้ไขปัญหา

           ขั้นที่ 1 : บันทึกไดอารี่ 4 ขา

           สิ่งแรกสุดที่อยากให้บ้านที่มีปัญหาสุนัขทะเลาะกันทำ คือให้เริ่มจดบันทึก ว่าสุนัขที่บ้านมักจะแสดงความก้าวร้าวใส่กันที่บริเวณไหน แสดงท่าทางและส่งเสียงอย่างไร สภาพแวดล้อมขณะนั้นเป็นอย่างไร อะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้สุนัขกัดกันอาหาร กระดูก หรือมักทะเลาะกันเวลาที่ต้องขึ้นบันไดแคบ ๆ พร้อมกัน และเวลาที่กัดกันเป็นแค่ช่วงเวลาที่เจ้าของอยู่หรือทุกเวลา เช่น เจ้าของกลับบ้านมาก็เจอแผล เจอคราบเลือด คราบน้ำลายประโยชน์ที่ได้จากการบันทึก คือ คุณจะรู้ว่าสุนัขตัวไหนเป็นฝ่ายเริ่มก่อน เข้าใจสัญญาณเตือนของสุนัขก่อนที่จะกัดกัน เช่น การจ้องหน้า แยกเขี้ยว ขู่คำรามในคอ รวมถึงสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่เป็นตัวกระตุ้นให้สุนัขกัด กันได้

           ขั้นที่ 2 : Safety first

           ความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดครับ เวลาที่สุนัขกัดกันหากเจ้าของพยายามเข้าไปแยกโดยตรงตอนจบคงหนีไม่พ้นต้องได้ แผลทั้งสุนัขและเจ้าของ เพราะสุนัขที่กำลังอยู่ในอารมณ์โมโหอาจกัดเจ้าของได้โดยไม่ตั้งใจ การแยกสุนัขกัดกันที่ปลอดภัยควรใช้การฉีดน้ำ กรณีสุนัขตัวเล็กอาจใช้วิธีโยนตะกร้าผ้าไปครอบสุนัขตัวใดตัวหนึ่งไว้ แต่วิธีการนี้อาจไม่ได้ผลกับสุนัขหลายๆ ตัว สุนัขที่กัดกันรุนแรงและกัดกันในช่วงเวลาที่เจ้าของไม่อยู่ควรแยกกันเลี้ยง ก่อน อย่าให้อยู่ด้วยกันโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เจ้าของไม่สามารถดูแลได้การใส่ ตะกร้อครอบปากเป็นเรื่องจำเป็นในกรณีที่สุนัขมีปัญหากัดกันรุนแรงโดยเฉพาะใน ช่วงเวลาที่เราไม่อยู่บ้าน อีกทางเลือกในการควบคุมสุนัขที่ง่ายกว่าและสุนัขไม่รู้สึกอึดอัด คือ การใส่ Head Halter ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับบังคับทิศทางศีรษะของสุนัข สุนัขที่สวม Head Halter จะยังสามารถอ้าปากได้ กินอาหารได้ แต่เมื่อเจ้าของดึงสายจูง ปากของสุนัขจะถูกปิดทันที แล้วเราสามารถที่จะเบนหัวและคอของสุนัขไปทางไหนก็ได้ตามที่เราต้องการ โดยที่สุนัขไม่เกิดอันตราย

 
           Head Halter มีประโยชน์มากในการห้ามสุนัขที่กำลังจะทะเลาะกัน และในการฝึกเพื่อการปรับพฤติกรรมที่จะกล่าวถึงต่อไป ดังนั้นควรใส่ Head Halter และสายจูงไว้ทุกครั้งที่สุนัขต้องอยู่ด้วยกันนะครับ

           ข้อควรระวังอื่น ๆ ที่เจ้าของควรรู้ คือ เมื่อคุณกลับถึงบ้าน สุนัขมักอยู่ในสภาพที่ตื่นตัว ซึ่งอาจเหนี่ยวนำให้กัดกันได้ง่าย เจ้าของจึงควรทักทายสุนัขด้วยโทนเสียงต่ำ อย่าใช้โทนเสียงสูง เพราะจะยิ่งทำให้สุนัขตื่นเต้น และเจ้าของยังไม่ควรให้ความสนใจกับสุนัขทั้งสองตัว ควรรอให้สุนัขสงบลงก่อน หลีกเลี่ยงการให้ขนมที่น่ากินมากๆ หรือการให้หนังสัตว์สำหรับเคี้ยว ซึ่งมักจะกินไม่หมดในครั้งเดียว เพราะมักเป็นขนวนเหตุให้สุนัขกัดกันได้ยกเว้นในเวลาที่อยู่กับสุนัขแค่ตัวใด ตัวหนึ่ง หรือสุนัขแต่ละตัวอยู่ภายใต้สายจูง เจ้าของควรหลีกเลี่ยงการให้สุนัขอยู่ด้วยกันในสถานที่แคบๆ เช่น เดินผ่านประตู หรือขึ้นบันไดพร้อมกัน ยกเว้นอยู่ในสภาพที่มั่นใจว่าสามารถควบคุมได้

           ขั้นที่ 3 : บ้านนี้ใครใหญ่

           ก่อนปรับพฤติกรรมเจ้าของต้องทำความเข้าใจกับสังคมพื้นฐานของสุนัขก่อนครับ เพราะสังคมของสุนัขที่อยู่ร่วมกันหลายตัวในบ้านจะต้องมีสุนัขที่เป็นผู้นำ สภาพการเป็นผู้นำจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาและสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป ส่วนมากสุนัขที่ยังหนุ่มยังสาว สุนัขที่ตัวใหญ่ และมีสุขภาพแข็งแรงมักจะเป็นผู้นำ แต่ก็ไม่เสมอไป ดังนั้นเจ้าของต้องฝึกสังเกตพฤติกรรมและภาษาของสุนัขในบ้านด้วยว่าสุนัขตัว ไหนกันแน่ที่เป็นผู้นำ เพราะสาเหตุที่สุนัขในบ้านทะเลาะกันส่วนใหญ่มักมาจากสภาวะการเป็นผู้นำของ สุนัขในบ้านเกิดความสับสนตัวอย่างเช่น

 
           1. เจ้าของไปให้ความสนใจกับสุนัขตัวอื่นมากกว่าเมื่ออยู่ต่อหน้าสุนัขที่เป็นผู้นำ : เจ้า ของมักเจอปัญหาว่าสุนัขกัดกัน เมื่ออยู่ต่อหน้าเจ้าของ แต่หากเจ้าของไม่อยู่ กลับบ้านมาแทบไม่เคยพบบาดแผลหรือรอยเลือดเลย สาเหตุเพราะเมื่อเจ้าของให้ความสนใจไปดูแลสุนัขตัวอื่นในบ้าน สุนัขที่เป็นผู้นำมักอยากจะเข้าไปแทนที่เพื่อให้เจ้าของเล่นด้วยหรือแปรงขน ให้ อาจเริ่มจากใช้สายตาคุกคามและขู่สุนัขตัวนั้น เจ้าของมักไม่พอใจเมื่อสุนัขขู่การที่สุนัขที่เป็นผู้นำถูกดุหรือลงโทษยิ่ง เป็นการให้ท้ายสุนัขตัวที่ได้รับการดูแลจากเจ้าของ และเกิดการเรียนรู้ว่าตัวเองจะได้รับความสนใจเมื่อมีเจ้าของอยู่ ในขณะที่เวลาเจ้าของไม่อยู่สุนัขตัวนั้นก็จะยอมสุนัขที่เป็นผู้นำตามปกติ

           แก้ไข : เจ้าของต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า โดยธรรมชาติสุนัขที่เป็นผู้นำต้องได้รับการดูแล และความสนใจมากกว่าสุนัขตัวอื่นเมื่อเค้าต้องการ ดังนั้นหากเรากำลังเล่นกับสุนัขตัวอื่นอยู่แล้วสุนัขที่เป็นผู้นำต้องการ เข้ามาแทนที่ อยากได้รับการดูแลจากเจ้าของบ้าง เราจำเป็นต้องเปลี่ยนมาให้ความสนใจสุนัขที่เป็นผู้นำแทน หรืออาจจะเดินหนีออกมาเลย การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจะได้ผลในกรณีที่เพิ่งเริ่มเกิดปัญหาครับ

 
           2. เกิดการท้าทายขึ้นในบ้าน เมื่อสุนัขตัวอื่นอยากขึ้นเป็นผู้นำ : สุนัข จะกัดกันไม่ว่าจะมีหรือไม่มีเจ้าของอยู่ก็ตาม พบบ่อยเมื่อลูกสุนัขโตขึ้นและตัวใหญ่กว่าสุนัขที่เป็นผู้นำเดิม เช่น ลูกเชาว์ เชาว์เริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นและตัวใหญ่กว่าสุนัขพูเดิลตัวเก่าที่บ้าน ปัญหาจะไม่เกิดหากสุนัขผู้นำเดิมอยู่ในสภาพที่ป่วยแก่มาก หรือเป็นสุนัขพันธุ์ที่ไม่ชอบการแข่งขัน เช่น บาสเซ็ตฮาวนด์ โดยสุนัขมักจะแสดงท่าทางยอมแพ้ โดยย่อตัว ลดหัวลงต่ำ หรือนอนหงายท้อง เมื่อสุนัขอีกตัวมาท้าทาย แต่หากสุนัขไม่ยอมแพ้และต้องการต่อสู้ด้วยจะแสดงออกโดยยกหางขึ้นและขนตั้ง ชัน สุนัขพันธุ์ขนเกรียนและหางสั้น เช่น บอสตัน เทอร์เรียร์จะมีปัญหาในการสื่อสารด้วยท่าทางนี้ ทำให้บางครั้งสุนัขที่มาท้าทายเข้าใจผิดว่าผู้นำเดิมไม่คิดจะสู้ด้วยและเกิด ปัญหาที่รุนแรงขึ้น

           แก้ไข : เจ้าของควรเลือกสุนัขที่แข็งแรงและไม่มีปัญหาพฤติกรรมเป็นผู้นำ ปรับพฤติกรรมโดยพาสุนัขทั้งสองตัวออกไปนอกบ้าน เพื่อลดปัญหาในเรื่องของการหวงพื้นที่ และให้อยู่ภาคใต้สายจูง ในระยะห่างที่สุนัขทั้งสองตัวจะไม่แสดงความก้าวร้าวเข้าใส่กัน สั่งให้สุนัขที่เป็นผู้ตามให้หมอบและคอย ในขณะที่สุนัขที่เป็นผู้นำให้อยู่ในท่าเดินตามสายจูง ค่อยๆ ขยับระยะห่างระหว่างสุนัขทั้งสองตัวให้เข้าหากันมากขึ้นทุกวัน และขยับเข้าใกล้บ้านมากขึ้นวันละนิด ในช่วงนอกเวลาฝึกควรแยกสุนัขทั้งสองตัวออกจากกันอย่างเด็ดขาด เมื่อฝึกสุนัขจนเข้ามาในตัวบ้านและสามารถให้สุนัขเดินผ่านหน้าสุนัขที่หมอบ ได้แล้ว ให้ลองปล่อยให้อยู่ด้วยกันและสังเกตพฤติกรรม สุนัขบางตัวอาจยอมให้ต่อเมื่อเจ้าของสั่งเท่านั้นและยังคงกัดกันอยู่ ซึ่งต้องหาวิธีการอื่นในการปรับพฤติกรรมแทน


ขั้นที่ 4 : ปรับพฤติกรรม

           สุนัขที่ได้รับการฝึกให้เชื่อฟังคำสั่งเป็นอย่างดี มักจะสามารถสั่งแยกสุนัขก่อนที่จะทะเลาะกัน โดยใช้คำสั่งเสียงหรือสัญญาณมือได้ แต่ก่อนอื่นต้องใส่สายจูงและ Head Halter ไว้ที่ตัวสุนัขก่อน และสุนัขต้องเรียนรู้คำสั่ง ดูเพื่อดึงความสนใจมาที่เราก่อนที่เจ้าของจะออกคำสั่งอื่น

           ขั้นตอนการฝึกคำสั่ง "ดู"

           1. สั่งให้สุนัข "นั่ง" หรือ "หมอบ" แล้วให้รางวัลในทันทีที่นั่ง
           2. ให้ถือขนมไว้ในมือ โดยเอาไว้ใกล้บริเวณดวงตาทันทีที่สุนัขจ้องมองที่ตาให้คุณให้ขนมในทันที
           3. ทำซ้ำจนสุนัขทำตามได้ดี แล้วจึงเพิ่มคำสั่งว่า ดูลงไป โดยพูดในทันทีที่สุนัขมองตา แล้วให้ขนมพร้อมกับคำชมเป็นรางวัล
           4. ในภายหลังลองสั่งว่า "ดู" โดยไม่ต้องใช้ขนมบ้างเป็นครั้งคราว แต่ให้ชมสุนัขทุกครั้งที่สุนัขทำตาม

           ในการควบคุมสุนัขที่แสดงอาการก้าวร้าวจะทำเมื่อสุนัขเริ่มขู่ หรือแยกเขี้ยว ให้เจ้าของยกสายจูงขึ้นเบาๆ แล้วสั่งให้สุนัข "นั่ง" สายจูงที่ยกขึ้นจะทำให้ Head Halter ปิดปากของสุนัขไปเองออกคำสั่ง "ดู" เพื่อให้สุนัขหันหน้ามามองเราแทน หรือค่อยๆ ดึงสายจูงไปทางด้านข้างให้หัวสุนัขหันหน้าไปทางอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ไม่ให้จ้องตากับสุนัขคู่อริ ให้คำชมทุกครั้งด้วยน้ำเสียงราบเรียบและสงบ หรืออาจให้ขนมบ้างเป็นครั้งคราวเมื่อสุนัขดูผ่อนคลาย เพื่อให้สุนัขเกิดความรู้สึกดีที่จะสงบและไม่ทะเลาะกับตัวอื่น
 
          อย่างที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าการที่สุนัขตื่นเต้นหรือตื่นตัวมากมักเป็นขนวนปัญหา ที่กระตุ้นให้สุนัขกัดกันได้ การฝึกให้สุนัขเรียนรู้ที่จะสงบจึงเป็นอีกเรื่องที่เจ้าของควรรู้

           อีกวิธีการในการบำบัดพฤติกรรมสุนัขให้รู้สึกเคยชินกับการอยู่ร่วมกัน คือ ให้สุนัขทั้งสองกินอาหารห่างกันในระยะที่จะไม่แสดงอาการก้าวร้าว ค่อยๆ เคลื่อนชามอาหารเข้ามาใกล้กันมากขึ้นวันละนิด หากสุนัขแสดงอาการก้าวร้าวให้รีบถอยชามอาหารออกอย่าลืมนะครับว่าในการฝึกทุก ครั้งต้องใส่สายจูงและ Head Halter การที่สุนัขได้รับอาหารในระยะที่อยู่ใกล้ๆ กัน (ไม่มากเกินไป) ถือเป็นการให้รางวัลและสร้างทัศนคติที่ดีเวลาที่สุนัขได้เจอกัน แต่ควรหลีกเลี่ยงใช้วิธีการนี้กับสุนัขที่มีความก้าวร้าวเนื่องจากการหวง อาหาร

 
           ขั้นที่ 5 : พบสัตวแพทย์

           สัตวแพทย์ใกล้บ้านท่านเป็นที่ปรึกษาที่ดีที่สุดเวลาที่สุนัขมีปัญหาพฤติกรรม ในบางครั้งความก้าวร้าวของสุนัขก็มาจากอาการเจ็บป่วย ปวดตามตัว ทำให้รู้สึกหงุดหงิดและก้าวร้าวการพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพและตรวจ เลือดจึงเป็นเรื่องจำเป็น สุนัขหลายตัวพบว่าความก้าวร้าวมีพื้นฐานมาจากปัญหาอื่น เช่น การหวงพื้นที่มากผิดปกติ ความกลัว หรือความรู้สึกกังวลใจกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การแก้ปัญหาที่ตรงจุดเท่านั้นถึงจะแก้ปัญหาความก้าวร้าวในสุนัขกลุ่มนี้ได้ ซึ่งบางตัวอาจจำเป็นต้องใช้ยาร่วมในการรักษา ทั้งนี้ การทำหมันสุนัขเพศผู้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลดปัญหาสุนัขตัวผู้ทะเลาะกัน เองในบ้าน ลองปรึกษาสัตวแพทย์ใกล้บ้านท่านดูนะครับ แล้วพบกันใหม่เดือนหน้าสวัสดีครับ

เรื่องโดย : น.สพ.กมล ภาคย์ประเสริฐ
แหล่งที่มา  Dogazine Healthy, http://pet.kapook.com/view40630.html
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต



No comments:

Post a Comment