Saturday, April 26, 2014

หูชั้นนอกน้องหมาอักเสบ...ทำไงดีน้า




            บรรดาเจ้าของสุนัขสังเกตไหมว่า ทำไมอยู่ ๆหูสุนัขของตนเองถึงมีกลิ่นที่เหม็นหรือทำไมน้องแมวของเค้าชอบเกาหูมากเลย แถมยังมีขี้หูดำมาก ๆ น้องเหมียวเป็นอะไรเนี้ยหรือ สุนัขของผมชอบเอาหูไปถูไปกับพรม แต่ที่ผ่านมาผมไม่พบว่ามีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นกับเจ้าตูบเลยนี่ ทำไมเจ้าตูบของผมถึงทำแบบนี้หล่ะถ้าหากบรรดาเจ้าตูบและน้องเหมียวที่บ้านของคุณมีอาการเช่นนี้ สันนิษฐานได้เลยว่า บรรดาลูก ๆ ของคุณอาจจะเป็นหูชั้นนอกอักเสบ สาเหตุที่ทำให้เกิดหูอักเสบ ปัจจัยอยู่ 2 อย่าง ได้แก่

              ปัจจัยหลัก เป็นปัจจัยที่มักทำให้เกิดการอักเสบโดยตรงบริเวณช่องรูหูส่วนนอกของรูหูชั้นนอก ได้แก่

           -    การติดพยาธิ เช่น การมีไรหูของเจ้าตูบ และเจ้าเหมียวก็จะทำให้บริเวณช่องรูหูส่วนนอกเกิดอาการอักเสบ

           -    การติดเชื้อแบคทีเรีย

           -    การติดเชื้อยีสต์หรือเชื้อรา

           -    ภาวะภูมิแพ้ เช่น โรคผิวหนังที่เกิดจากภาวะภูมิแพ้ของร่างกาย (atopy skin disease) เป็นความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันซึ่งตอบสนองไวเกินไป จัดเป็นสาเหตุหลักที่สำคัญของปัญหาหูอักเสบ ได้แก่ การแพ้สิ่งสูดดม การแพ้อาหาร แพ้สิ่งสัมผัส หรือแพ้ยา

           -    การมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในรูหูหรือการได้รับบาดเจ็บต่าง ๆ สุนัขจะเกาหรือทำร้ายตัวเองจนเกิดบาดแผลและเป็นผลให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนตามมาได้

           -    ความผิดปกติทางฮอร์โมน เนื่องจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนการทำความสะอาดช่องหู ช่องหูของสุนัขและแมวจะมีลักษณะเป็นท่อรูปตัว L มักมีขนขึ้นมากในช่องหูต้องถอนออกให้เรียบร้อย

           -    ความผิดปกติของเซลล์เยื่อบุในช่องรูหูส่วนนอกของหูชั้นนอก

 
           ปัจจัย โน้มนำ ถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมภายในช่องรูหูส่วนนอก ซึ่งเป็นผล ทำให้ปริมาณหรือชนิดของแบคทีเรียที่อยู่เปลี่ยนแปลงไป ปัจจัยดังกล่าวได้แก่

           -    ลักษณะโครงสร้างประจำพันธุ์ของสุนัขที่มีช่องหูตีบ แคบ ใบหูพับลงหรือมีขนในช่องหูมาก

           -    เจ้าตูบที่ชอบเล่นน้ำหรือว่ายน้ำเป็นประจำ อาจจะมีโอกาสที่น้ำจะเข้าหูได้ง่ายแล้วก่อให้เกิดหูอักเสบได้

           -    การดูแลรักษาทำความสะอาดช่องรูหูอย่างไม่ถูกวิธี เช่น ใช้แอลกอฮอล์ 70% มาเช็ดหูให้เจ้าตูบกับเจ้าเหมียวเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะเยื้อบุผิวที่หูเป็นอวัยวะที่บอบบาง อาจเกิดการอักเสบได้ง่าย

ลักษณะอาการ

           1. หูมีกลิ่นเหม็น เป็นในกรณีที่หูมีการอักเสบเรื้อรัง จะทำให้ขี้หูสีผิดปกติ หูมีกลิ่นเหม็นมาก ๆ ทำให้เสียสุขภาพจิตทั้งเจ้าของและสัตว์เลี้ยง

           2. มีการเกาหู หรือเอาหู (หัว) ไปถูกับวัตถุ เป็นในกรณีที่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหู จะทำให้สัตว์เลี้ยงรู้สึกเจ็บปวด ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน จะทำให้เยื่อแก้วหูฉีกขาดได้

           มีสารคัดหลั่งออกมาจากช่องหู จะพบในกรณีที่สัตว์เลี้ยงมีช่องหูอักเสบมาจากไรหู จะมีขี้หูสีน้ำตาลแห้ง ๆ จะรู้สึกคัน และเกาบริเวณใบหูตลอดเวลา มีการสั่นหัว หรือเอียงหัวไปด้านใดด้านหนึ่ง

           3. ช่องหู หรือใบหูมีสีแดง หรือบวม มีอาการเจ็บรอบ ๆ หู

           4. มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น ซึม หรือหงุดหงิด ไม่ร่าเริงเหมือนปกติ

 
แนวทางป้องกันและการรักษา

           เนื่องจากสาเหตุของการเกิดปัญหาของช่องหูมีสาเหตุหลายอย่าง การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเพียงอย่างเดียวนั้นจึงไม่ใช่คำตอบของการรักษาทั้งหมด ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุด คือการป้องกันไม่ให้เกิด แนวทางป้องกัน ที่ช่วยให้สุนัขและแมวห่างไกลจากโรคหูอักเสบ ได้แก่

           -    หมั่นดูแลสังเกตลักษณะขี้หูของสัตว์เลี้ยงว่ามีสีเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ มีกลิ่นเหม็นมากน้อยแค่ไหน

           -    ทำความสะอาดช่องหูและใบหูเป็นประจำอย่างสม่ำเสมออย่างถูกวิธี โดยหยอดน้ำยาลงในช่องหูแล้วนวดเบา ๆ บริเวณโคนหูประมาณ 30 วินาที แล้วจึงซับให้แห้งด้วยลำสีสะอาดและใช้ก้านไม้ที่พันด้วยสำลีที่ชุ่มน้ำยาทำ ความสะอาดช่องหู ทำซ้ำกันจนไม่พบว่ามีเศษเนื้อเยื่อ หรือขี้หูหลงเหลืออยู่ในช่องหูอีก หลังจากทำความสะอาดหูแล้ว ปล่อยให้สัตว์เขาสะบัดหู หรือสะบัดหัว สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เนื่องจากการเช็ดหูบ่อยเกินไปอาจทำให้เยื่อบุช่องหูระคายเคืองได้

           -    พาไปพบสัตวแพทย์เป็นประจำ เพื่อสุขภาพที่ดีต่อเจ้าตูบและเจ้าเหมียว

ซึ่งวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของปัญหาและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เช่น

           -    การติดเชื้อแบคทีเรีย รักษาโดยการใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมต่อชนิดของแบคทีเรียที่ก่อโรคนั้น

           -    การรักษาการแพ้มัก รักษาโดย การหมั่นทำความสะอาดช่องหูอย่างสม่ำเสมอ ด้วยน้ำยาทำความสะอาดหู กินยาแก้แพ้ และเสริมกรดไขมันบางชนิด บางครั้งอาจจำเป็นต้องให้ยาลดอักเสบที่มีผลกดระบบภูมิคุ้มกันร่วมด้วย

           -    การคัดไรในหู หลักสำคัญในการกำจัดไรในหูให้ได้ผลนั้น จะต้องจะรักษาด้วยยากำจัดไรทั้งที่อยู่ในช่องหูและตามส่วนอื่นของร่างกาย ด้วย ดังนั้นภาพยอดหูเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องใช้ยากำจัดปรสิตภายนอกที่อยู่ตามร่างกายร่วมด้วย

           -    การติดเชื้อยีสต์ รักษาด้วยยาด้านเชื้อราแบบเฉพาะที่ในช่องหู เพียงอย่างเดียว ถ้าในกรณีติดเชื้อรุนแรงนั้นจะรักษาด้วยยาด้านเชื้อราแบบเฉาพะที่ในช่องหู ร่วมกับการกินยาฆ่าเชื้อยีสต์ร่วมด้วย

           -    กรณีปัญหาช่องหูที่เกิดมาจากโรคอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น ความผิดปกติทางฮอร์โมน หรือการแพ้ จะต้องให้การรักษาสัตว์ทั้งตัว ไม่เฉพาะแต่ช่องหู เช่น การรักษาการแพ้สิ่งสูดดมนั้น จะต้องตรวจหดสอบการแพ้แล้วพยายามหลีกเลี่ยงสารดังกล่าว หรือการเสริมฮอร์โมนที่ผิดปกติ เป็นต้น

 
           หากบรรดาเจ้าของสังเกตเห็น น้องตูบและน้องเหมียวของท่านมีอาการดังที่กล่าวมาข้างตน ผู้เขียนแนะนำว่าพาไปพบคุณหมอดีที่สุดค่ะ เพราะสัตว์เลี้ยงเขาพูดไม่ได้ เจ็บตรงไหน ปวดตรงไหนเขาบอกเจ้าของไม่ได้หรอกคะ บรรดาเจ้าของต้องอาศัยการสังเกต หมั่นดูแลเอาใจใส่เขาอย่าสม่ำเสมอ เขาจะได้ไม่เจ็บไม่ป่วย อยู่เป็นเพื่อนเราไปได้อีกนาน ๆ ค่ะ ... ^_^

แหล่งที่มา  โลกสัตว์เลี้ยง, http://pet.kapook.com/view44551.html
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Monday, April 21, 2014

โรคพิษสุนัขบ้า ปัญหาที่คนรักสัตว์ต้องรู้






       โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ป่วยแล้วตายทุกราย แพทย์แนะผู้ที่ถูกสัตว์ต้องสงสัยโรคพิษสุนัขบ้า เช่น สุนัข แมว กัดหรือข่วน ให้รีบล้างแผล ใส่ยา กักหมา แล้วรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อฉีดวัคซีนป้องกัน

           นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุม กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์ สัตว์ นำโรคได้แก่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น ชะนี กระรอก กระแต กระต่าย ลิง ค้างคาว หรือแม้กระทั่งสัตว์เศรษฐกิจ วัว ควาย แพะ แต่ สัตว์นำโรคที่สำคัญที่สุดในประเทศไทย คือ สุนัข โดยมีผู้ป่วยร้อยละ 95 ติดเชื้อมาจากสุนัขกัดหรือข่วน รองลงมาคือ แมว ซึ่งสามารถตรวจพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในน้ำลายได้ 1-7 วัน ก่อนแสดงอาการโรคพิษสุนัขบ้า

          ทั้งนี้ อาการของโรคพิษสุนัขบ้าที่พบในคนนั้น อาการเริ่มแรก คือ เบื่ออาหาร เจ็บคอ มีไข้ อ่อนเพลีย มีอาการคันรุนแรงบริเวณที่ถูกกัด แล้วอาการคันลามไปส่วนอื่น ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อเจ้อ กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว กลัวน้ำ ปวดท้องน้อยและกล้ามเนื้อขากระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรืออาจชัก เกร็ง อัมพาต หมดสติ และตายในที่สุด


สำหรับโอกาสที่จะเจ็บป่วยหลังถูกสัตว์ที่ป่วยหรือมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัดหรือข่วนขึ้นอยู่กับ

          1. จำนวนเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าที่เข้าไปในร่างกาย ซึ่งบาดแผลที่ถูกกัดมีขนาดใหญ่ ลึก หรือมีบาดแผลหลายแห่งจะมีโอกาสที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายได้มาก

          2. ตำแหน่งที่ถูกกัด หรือตำแหน่งที่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเข้าสู่ร่างกาย เช่น ศีรษะ หรือ บริเวณที่มีปลายประสาทมาก เช่น มือหรือเท้า เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ระบบประสาทได้ง่าย

          3. อายุของคนที่ถูกสุนัขกัดหรือข่วน เช่น เด็กและผู้สูงอายุจะมีความต้านทานต่อโรคพิษสุนัขบ้าต่ำกว่าคนหนุ่มสาว

          4. สายพันธุ์ของเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ถ้าเป็นสายพันธุ์จากสัตว์ป่า จะมีอาการรุนแรงกว่าสายพันธุ์จากสัตว์เลี้ยง

          อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า ประชาชนควรปฏิบัติตัวดังนี้

          1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สัตว์เลี้ยง ครั้งแรกตั้งแต่อายุ 2-4 เดือน และฉีดซ้ำทุกปี แม้จะเป็นสุนัขที่เลี้ยงไว้ในบ้านเพราะอาจถูกสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ขณะที่เห่าบริเวณช่องรั้วบ้าน หรือถูกกัดขณะเจ้าของเปิดประตูบ้านโดยที่เจ้าของไม่ทราบ หรือจากสุนัขที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่

          2. ปฏิบัติตามคำแนะนำ 5 ย คือ อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ และอย่ายุ่ง เพื่อป้องกันการถูกสุนัขกัด (อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัข (หาง, ตัว, ขา) หรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ)

          3. เมื่อถูกสุนัขกัดให้ล้างแผลให้สะอาด และรีบไปพบแพทย์ ส่วนสุนัขที่กัดให้ขังดูอาการเป็นเวลาอย่างน้อยเป็นเวลา 10 วัน

          "โรคนี้ไม่มีทาง รักษาให้หายได้ หากติดเชื้อและมีอาการแล้วเสียชีวิตทุกราย ป้องกันได้ด้วยการนำสัตว์เลี้ยงไปรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามกำหนด ใช้คาถา 5 ย ถ้าถูกสุนัขหรือสัตว์กัดข่วนให้รีบล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ ประชาชน ที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์ และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร 0-2590 3177-78 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเน้นย้ำในตอนท้าย

แหล่งที่มา  สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค, http://pet.kapook.com/view86522.html
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Sunday, April 20, 2014

คางคก ภัยร้ายใกล้ตัว




         พิษคางคก สร้างมาจากภายในร่างกายของมันจากต่อมพาโรติค แล้วหลั่งมาสู่ผิวหนัง  เมื่อได้รับพิษมันจะซึมผ่านไวมากทางเยื่อเมือก เช่น ผ่านลิ้น ปาก หรือตา  เข้าสู่ร่างกายหมาและแมวตัวที่สัมผัสหรือเลีย  พิษของคางคกเป็นส่วนประกอบของสารกลุ่มที่ทำเกิดอาการประสาทหลอนครับ มีส่วนประกอบของ สารกลุ่มแคติโคลามีน อินดอล อัลคิลเอมีน ซึ่งเจ้าตัวนี้มีฤทธิ์หลอนประสาท

        อาการของสัตว์ที่ได้รับพิษคางคกนั้น  เป็นไปอย่างปุบปับทันทีทันใด เช่น หมาหรือแมวจะมีน้ำลายไหลมาก ท่าทางกระสับกระส่าย หอบ ตื่นเต้น มีอาการบวมแดงอย่างมากปรากฏที่บริเวณใบหน้า ปากหรือตาส่วนที่ไปสัมผัสกับคางคก เจ้าหมา แมวมักเอาเท้าเกาใบหน้ามากเพราะเจ็บปวด  ถ้ารับพิษไปมากก็จะมีอาการหอน ร้อง เหมือนประสาทหลอน ตัวร้อนและถึงชักได้ถ้าเกิดรับพิษระดับรุนแรง และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ในกรณีที่กินคางคกเข้าไปหมดทั้งตัว

 
วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นมีดังนี้


         
 1. ถ้าเห็นว่าสัตว์เลี้ยงเพียงแค่เลีย หรือสัมผัสมัน ให้รีบล้างบริเวณที่สัตว์สัมผัสด้วยน้ำสะอาด ใช้น้ำจากสายยางฉีดล้างนานประมาณ 5-10 นาทีเพื่อที่ชะเอาพิษออกไปให้มากที่สุด ถ้าอาการดีขึ้นไม่บวม น้ำลายหยุดไหลและไม่มีอาการประสาทหลอน ไม่หอน ถือว่าไม่มีอันตรายอะไร

        
2. ถ้ามีอาการตัวร้อนร่วม ให้เอาผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อระบายความร้อน   สุดท้าย ให้รีบพาไปหาสัตว์แพทย์ให้ไวที่สุด เพื่อได้รับการรักษาได้ทันท่วงที

         พึงระวัง ภัยใกล้ตัวที่จะเกิดกับสัตว์เลี้ยง...ปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่านะคะ

  
แหล่งที่มา  โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ, http://pet.kapook.com/view3663.html
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Saturday, April 19, 2014

สุนัขพันธุ์ไหน เสี่ยงเนื้องอกในสมอง



ก้อนเนื้อในสมอง (Brain Tumor)

          เมื่อกล่าวถึงเรื่องเนื้องอกในสมอง หลายๆ ท่านก็คงจะเคยได้ยินกันมาบ้าง ซึ่งเนื้องอกในสมองมักจะพบในสุนัขอายุมาก แต่ก็อาจพบในสุนัขเด็กได้เช่นกัน ส่วนใหญ่เมื่อเป็นเนื้องอกในสมองมักจะไม่หายขาด ถึงแม้ว่าจะได้รับการผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออกแล้วก็ตาม อาจลุกลามเกิดเป็นก้อนใหญ่ขึ้น หรืออาจทำให้อาการแย่ลงก็ได้ค่ะ

สายพันธุ์กับชนิดเนื้องอก

          สุนัขแต่ละสายพันธุ์มีแนวโน้มการเป็นเนื้องอกแต่ละชนิดต่างกันค่ะ สุนัขพันธุ์ บูลด็อก(Bulldog) และ บอสตัน เทอร์เรีย (Boston Terrier) มักจะพบว่าเป็นเนื้องอกจากต่อมใต้สมองได้มาก 


             ส่วนสุนัขพันธุ์จมูกยาว เช่น โด เบอร์แมน พินเชอร์(Doberman pinscher) สก็อตติช เทอร์เรีย (Scottish terrier) และโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ (golden retriever) มักจะพบเนื้องอกที่มาจากเยื่อหุ้มสมองได้มาก

 
อาการของสุนัขที่มีเนื้องอกในสมอง

          สุนัขส่วนใหญ่ที่เป็นมักไม่ค่อยแสดงอาการในช่วงแรก แต่เมื่อก้อนเนื้องอกโตขึ้นจนร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ สุนัขก็จะเริ่มแสดงอาการออกมาให้เห็น อาการมักขึ้นกับว่า มีก้อนเนื้องอกที่ส่วนไหนของสมอง อาการโดยทั่วไป ได้แก่ พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เดินทรงตัวไม่ได้ เดินเป็นวงกลม ตาบอด หรืออาจมีอาการชัก

 
การวินิจฉัย

          การวินิจฉัยที่แน่นอนสามารถทำได้โดย CT scan (Computer Tomography scan) หรือ MRI (Magnetic Resonance Imaging) ทั้งสองวิธีนี้สามารถบอกตำแหน่งของเนื้องอกในสมองได้แน่นอน และอาจเป็นข้อมูลที่ช่วยในการวินิจฉัยชนิดของเนื้องอกได้คร่าวๆ อีกด้วย

          ทั้งนี้ การตรวจทั้งสองวิธีนี้ต้องทำการวางยาสลบเพื่อให้สนุัขอยู่นิ่งที่สุดขณะที่ทำการตรวจวินิจฉัย เพราะการเคลื่อนไหวแม้เพียงนิดเดียวอาจจะทำให้การวินิจฉัยผิดพลาดได้ อย่างไรก็ตาม จุดด้อยของการตรวจทั้งสองวิธีนี้ก็คือ ค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ปกติแล้วค่าใช้จ่ายในการตรวจ CT scan  มักจะสูงกว่าการตรวจ X-ray ประมาณ 10-20 เท่า ส่วน MRI จะสูงกว่าประมาณ 20-50 เท่า เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการ maintenance เครื่องจะสูงกว่าเครื่อง X-Ray ธรรมดามาก การทำการตรวจโดยสองวิธีนี้จึงยังไม่ได้รับความนิยมมากนักในเมืองไทย

 
การรักษาเนื้องอกในสมอง

          การรักษาสามารถทำได้โดยการควบคุมการบวมของสมองและควบคุมอาการชัก ซึ่งมักพบได้บ่อย นอกจากนั้นแล้วยังอาจทำการรักษาโดยการฉายรังสีเพื่อรักษา หรือการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก การผ่าตัดมักทำได้ค่อนข้างยากและขึ้นกับตำแหน่งของเนื้องอกนั้นๆ ด้วย

          อย่างไรก็ดี การรักษาโดยการผ่าตัดที่อเมริกาพบว่า อาจจะมีการกลับมาเป็นใหม่ได้ บางรายอาจจะในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 3-4 สัปดาห์ ก็กลับมาเป็นใหม่และอาการแย่กว่าก่อนรับการผ่าตัด เนื่องจากเนื้องอกมีการขยายขนาดขึ้น ส่วนใหญ่แล้วเจ้าของที่ไม่สามารถรับสภาพของสุนัขเนื่องจากอาการที่แสดงออก เช่น ชัก หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ก็มักจะขอให้สัตวแพทย์ฉีดยาเพื่อให้เขาหลับไป


โดย สพ.ญ.ชนกชนม์ เพชรศรีช่วง
แหล่งที่มา  dogazine, http://pet.kapook.com/view3670.html
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต