Saturday, May 25, 2013

ลักษณะของปอมเมอเรเนียน (POMERANIAN)




     ปอมเมอเรเนียน เป็นสุนัขพันธุ์เล็ก มีขนนุ่มปุกปุย มีหัวเป็นรูปลิ่ม หูตั้งชี้ขึ้น บรรพบุรุษปอมเมอเรนียนย้อนกลับไปถึงยุคก่อนคริสตกาล พบภาพวาดในแผ่นหินและรูปหล่อสัมฤทธิ์ตามโลงศพที่พบในอียิปต์ พบโครงกระดูกสุนัขพันธุ์เล็กคล้ายพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ในอุโมงค์ที่บรรจุศพสมัยโบราณของชาวอียิปต์

      เชื่อกันว่า ปอมเมอเรเนียนได้รับการพัฒนาให้เป็นปอมเมอเรเนียนในปัจจุบันครั้งแรกที่ เมืองปอมเมอเรเนีย ประเทศเยอรมัน ตั้งอยู่ในยุโรปเหนือแถบทะเลบอลติก ดินแดนกว้างใหญ่จากตะวันตกของเกาะรูเกนถึงแม่น้ำวิทูลา ที่แห่งนี้มีการเลี้ยงสุนัขอย่างแพร่หลาย ทั้งเพื่อให้เป็นสัตว์และเพื่อให้เป็นสุนัขอารักขา 

      ปอมเมอเรเนียนมีต้นกำเนิดจากพันธุ์สปิทซ์ในสมัยโบราณ บางคนเชื่อว่าสุนัขปอมเมอเรเนียนพัฒนาจากสุนัขพันธุ์ซามอยด์ ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ที่ตอนเหนือของประเทศรัสเซียแถบไซบีเรีย บางคนเชื่อว่าพัฒนามาจากสุนัขป่า ซึ่งอาศัยอยู่ตามถ้ำในประเทศเยอรมัน และถูกนำมาใช้เป็นสุนัขเลี้ยงแกะในทวีปยุโรปตอนกลางและตอนล่าง นำมาพัฒนาในยุโรปเพื่อช่วยในการเลี้ยงแกะ ซึ่งบรรพบุรุษของปอมฯ น่าจะมีน้ำหนักมากถึง 30 ปอนด์ บางคนเชื่อว่าสุนัขปอมฯ มีต้นกำเนิดมาจากประเทศกรีซ โดยอ้างหลักฐานจากภาพวาดสมัยโบราณหลายภาพที่มีอายุ 400 ปีก่อนคริสตกาล หรือเกือบประมาณ 2500 ปีมาแล้ว

 
       มีภาพของสุนัขขนาดเล็กที่มีรูปร่างลักษณะเหมือนสุนัขปอมฯ ในปัจจุบัน คือ Stop ที่เด่นชัด ช่วงปากแหลม หูสั้น ลักษณะการเดินและการแสดงออกเหมือนกับที่พบได้ในปัจจุบันทุกประการ ยกเว้นแต่ตำแหน่งของหางที่อยู่ต่ำเกินไปเท่านั้น แสดงว่าสุนัขพันธุ์นี้มีขนาดเล็กมากตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ไม่ใช่เพิ่งพัฒนาให้มีขนาดเล็กลงเมื่อ 40-50 ปีที่ผ่านมาตามที่มีคนในประเทศอังกฤษอ้างเสมอ 

      ประมาณปี 1800 สมเด็จพระราชินีวิคตอเรีย ทรงมีความชื่นชอบในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียนและส่งสุนัขของพระองค์ลงประกวด ทำให้เกิดความนิยมปอมเมอเรเนียนอย่างแพร่หลายในประเทศอังกฤษ และเพราะความที่พระองค์โปรดปรานสุนัขที่มีขนาดเล็ก ผู้เพาะพันธุ์หลายคนเริ่มที่จะคัดสุนัขที่มีขนาดเล็ก ปัจจุบันปอมฯ ที่เราเห็นอยู่มีขนาดที่เล็กลงจากปอมฯ ที่เป็นต้นตำรับ 4-5 ปอนด์

     ความฉลาดและความสามารถของปอมฯ ทำให้สุนัขพันธุ์นี้เป็นพระเอกในคณะละครสัตว์อย่างต่อเนื่อง ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในเยอรมัน นิยมเลี้ยงกันเป็นฝูง บางแห่งทำเป็นสุนัขลากเลื่อนก็มี ปอมฯ เข้าสู่อังกฤษช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 และได้รับความนิยมอย่างสูง เช่น มีการตั้งชมรมคือ English Pomeranian Club ในปี 1891 ภายหลังสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียทรงออกงานพร้อมสุนัขพันธุ์นี้บ่อยครั้ง ทำให้สุนัขพันธุ์นี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ส่วนในประเทศอเมริกามีการปรากฎตัวครั้งแรกของปอมเมอเรเนียนที่งานกระกวด สุนัขแห่งหนึ่งประมาณปี 1892 ไม่กี่ปีหลังจากนั้นมีการสั่งนำเข้าอีกเกือบ 200 ตัว 


       มาตรฐานของปอมฯ โดยทั่วไป รูปร่างจะเหมือนสุนัขจิ้งจอก มีขนาดกลาง ตาเป็นวงรีสีดำ หูเล็กตั้งตรง ลำตัวสั้นขนาดกระทัดรัด หางเป็นพวงแผ่อยู่บนส่วน

ลักษณะทั่วไป  ปอมฯ เป็นสุนัขขนาดเล็ก ลำตัวสั้นกระทัดรัด น้ำหนักประมาณ 4-6 ปอนด์ มีการแสดงออกถึงความเฉลียวฉลาด ร่าเริงและตื่นตัวอยู่เสมอ ซื่อสัตย์ รักเจ้าของ ขี้ประจบ แต่เป็นสุนัขค่อนข้างตกใจง่าย เห่ามาก ยิ่งตัวเล็กยิ่งเห่าเก่ง

สัดส่วน น้ำหนัก ของปอมฯ โดยเฉลี่ยแล้วจะหนักประมาณ 3-7 ปอนด์ (ประมาณ 1.25-3 กก.) แต่ขนาดที่ดีสำหรับการประกวดนั้นควรหนักประมาณ 4-6 ปอนด์ (1.7-2.5 กก.) ถ้าสุนัขหนักมากกว่าหรือน้อยกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ถือว่าผิดมาตรฐาน รูปร่างของสุนัขมีความสำคัญกว่าขนาดของสุนัข ช่วงตั้งแต่หน้าอกจนถึงสะโพกจะสั้นกว่าหรือเท่ากับส่วนสูงตั้งแต่ช่วงไหล่จน ถึงพื้น กระดูกมีขนาดปานกลาง


ศีรษะ  ขนาด ของหัวต้องได้สัดส่วนกับลำตัว ช่วงปาก (MUZZLE) สั้นตรง หน้าดูคล้ายกับสุนัขจิ้งจอก (FOXY EXPRESSION) หัวกะโหลกปิด ช่วงบนของหัวกะโหลกจะกลมเล็กน้อยแต่ไม่โหนกนูน ถ้ามองจากด้านหน้าและด้านข้างแล้วจะต้องเห็นหูที่มีขนาดเล็กอยู่ในตำแหน่ง ที่สูง (HIGH EARSET) และตั้งตรง รูปร่างปากจะมีลักษณะคล้ายรูปลิ่ม(WEDGE SHAPE) เส้นที่ลากจากจมูกไปถึงจุดหัก (STOP) จะต้องอยู่ตรงกลางระหว่างตาทั้งสองข้างและหูทั้งสองข้าง ตามีสีดำสนิท สดใส ขนาดปานกลาง คล้ายเมล็ดอัลมอนด์ (ALMOND SHAPE) สีของจมูกและขอบตาต้องดำสนิท ยกเว้นปอมฯ สีน้ำตาล BEAVER และ BLUE ฟันต้องกัดสบกันพอดี (SCISSORSBITE)

นิสัยและอารมณ์ สุนัขปอมฯ เป็นสุนัขที่เปิดเผย แสดงออกถึงความเฉลียวฉลาด

คอ เส้นหลังและลำตัว คอ ค่อนข้างสั้น ตั้งอยู่บนไหล่ ทำให้ช่วงคอตั้งสูง แลดูสง่างาม ช่วงหลังสั้น มีระดับของเส้นหลัง หางมีตำแหน่งที่สูง (HIGH TAILSET) วางราบตรงอยู่บนหลัง

ลำตัวส่วนหน้า ไหล่ จะต้องมีการเอียงลาดลงเพียงพอ เพื่อให้สามารถชูคอและหัวได้สูงและสง่างาม ความยาวของช่วงไหล่และขาตอนบนต้องเท่ากัน ขาหน้าต้องตรงและขนานกัน ความยาวตั้งแต่ไหล่จนถึงข้อศอกต้องมีความยาวเท่ากับข้อศอกถึงพื้น ขาต้องตรงและแข็งแรง ไม่เอียงเข้าหรือเอียงออก

ลำตัวส่วนหลัง ได้ สัดส่วนกับลำตัวส่วนหน้า ตำแหน่งของหางจะต้องอยู่เหนือสะโพกค่อนมาทางด้านหน้าต้นขา ต้องมีกล้ามเนื้อแข็งแรงปานกลาง และมีส่วนหน้าของขาหลัง (STIFLES) มีมุม (ANGULATION) ที่โค้งงอพอสมควรรับกับส่วนน่อง (HOCK) ต้องตั้งฉากกับพื้น ถ้ามองจากด้านหลังขาทั้ง 2 ข้างต้องตรงและขนานกัน เท้ามีลักษณะโค้งมนกระชับ ไม่เอียง สุนัขต้องยืนอยู่ปลายเท้า (TOES) นิ้วติ่ง (DEWCLAWS) ถ้ามีควรตัดออก



การเคลื่อนไหว การ เดินหรือการเคลื่อนไหวต้องเป็นไปอย่างอิสระราบเรียบ นุ่มนวล แลดูแข็งแรง เวลาเดินขาหน้าต้องเหยียดตรงไม่งอพับขึ้น ข้อศอกไม่กางออก ส่วนขาหลังต้องไม่ถ่างออก ขาหลังจะเคลื่อนไปข้างหน้าในจังหวะเดียวกันกับขาหน้าที่เคลื่อนที่ไป

ขน สุนัข ปอมฯ มีขน 2 ชั้น คือ ขนชั้นใน (UNDERCOAT) ต้องนุ่มและแน่น ขนชั้นนอก(OUTTERCOAT) ต้องยาวตรงเป็นประกายและหยาบ ขนชั้นในที่หนาแน่นจะช่วยพยุงขนชั้นนอกให้ฟูไม่ลู่ เหยียดตรง ขนจะต้องหนาแน่นตั้งแต่ช่วงคอ หน้าอก ช่วงไหล่ด้านหน้า ขนช่วงหัวและขาจะแน่นแต่สั้นกว่าขนช่วงลำตัว ขนหางยาว หยาบและเหยียดตรง การตัดแต่งเล็มขนให้ดูสวยงามและดูเรียบร้อยไม่ถือเป็นข้อผิด

สี สีที่ได้รับการยอมรับและรับรอง ควรได้รับการพิจารณาการตัดสินอย่างเท่าเทียมกัน สีที่ได้รับการยอมรับได้แก่
1. สีใดๆ ก็ได้ที่ขึ้นเป็นสีเดียวกันทั้งตัว หรืออาจจะมีสีที่อ่อนหรือแก่กว่าแซมอยู่ด้วย (SELT-COLOR)
2. สีแซมกัน 2 สี (PARTI-COLOR) หมายถึงปอมฯ ที่มีสีขาวและมีสีอื่นแซมเป็นพื้นๆ กระจายเท่าๆ กันทั่วตัว และควรมีแถบสีขาวบนหัวด้วย
3. สีดำและน้ำตาล (BLACK AND TAN) หมายถึงปอมฯ มีสีดำที่มีสีน้ำตาลอยู่เหนือตาทั้ง 2 ข้างและปาก ลำคอ หน้าอก ใต้หาง ขาและเท้าทั้ง 4 ข้าง สีน้ำตาลนี้ยิ่งเข้มยิ่งดี
4. BRINDLE ได้แก่ปอมฯ ที่มีพื้น คือ สีทอง แดงหรือส้ม และมีสีดำแซมอยู่ทั่วทั้งตัว


จุดบกพร่อง 1. กะโหลกกลม โหนกนูน ฟันล่างยื่น (UNDERSHOT MOUTH) หรือฟันบนยื่นจนเกินไป (OVERSHOT MOUTH)
2. ข้อเท้าราบกับพื้นมากเกินไป
3. ขาหลังที่หัวเข่าชิดกัน ปลายเท้าชี้ออก (COWHOCKS) หรือขาหลังที่บกพร่อง
4. ขนที่นิ่ม เหยียดตรงและแยกออกจนเห็นผิวหนังข้างใน (OPEN COAT)

แหล่งที่มา  http://www.gotoknow.org/posts/222638


Wednesday, May 22, 2013

เจ้าตูบ....บอกนิสัย “นาย”



...คนที่ชอบเลี้ยงหมามักจะมีความผูกพันกันมาก บางคนถึงกับเรียกว่าลูกเลยทีเดียว ซึ่งหมาแต่ละพันธุ์มักจะมีนิสัยแตกต่างกัน บางคนถึงกับเปรียบเทียบนิสัยเจ้าของกับเจ้าตูบเลยทีเดียว ไม่ใช่ว่าคนไปมีนิสัยเหมือนเจ้าตูบหรอกนะ ว่ากันว่าเจ้าของมักจะเลือกเลี้ยงหมาตามนิสัยของตัวเองมากกว่า มาดูกันว่าเจ้าตูบแต่ละพันธุ์นั้นบอกนิสัยเจ้านายอย่างไรบ้าง ? ….

เซนต์เบอร์นาร์ด :

 
หลายคนขนานนามว่าเป็นเจ้าตูบหน้าตาซื่อบื้อ ตาปรือๆ จะหลับไม่หลับแหล่ แถมยังขี้เกียจอีกต่างหาก แถมยังขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าตูบขี้ตะกละอีกด้วย ยิ่งเลี้ยงยิ่งตัวโตกระโดดหาเจ้านายทีแทบล้มทั้งยืนเลยเชียว เจ้าของที่เลี้ยงหมาพันธุ์นี้ส่วนใหญ่มีนิสัยเฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้น และกินเก่ง เรียกว่าถึงเวลาอาหารของนายทีไรเจ้านาร์ดก็ได้หม่ำทุ้กที ชาตินี้ไม่มีอด... คราวนี้ก็เลยเจ้าเนื้อทั้งคนทั้งเจ้าของเลยเอ้า !

บูลด๊อก :

 
เจ้าหมาหน้าย่น... ไม่ใช่แค่หน้านะที่ย่นแต่ย่นไปทั้งตัวเลยล่ะ บางคนก็เรียกว่าเจ้าหมาหน้ายับ คนที่ชอบเลี้ยงหมาพันธุ์นี้ดูแล้ว เป็นคนที่มีจิตใจสับสนวุ่นวายกับความคิดต่างๆ ตลอดเวลา จึงถ่ายทอดออกมาแบบไม่สบอารมณ์เท่าใดนัก เมื่อจะเลือกเลี้ยงหมาทั้งทีก็คิดว่าเลือกเจ้าหมาบลูด๊อกมาเป็นเพื่อนดีกว่า เพราะลำพังตัวเองก็คิ้วขมวดจะแย่อยู่แล้ว หันหน้าไปก็เจอเจ้าหน้ายับนั่งอยู่เป็นเพื่อนซะง้าน.... เออช่วยกันเครียดช่วยกันย่นทั้งคนทั้งตูบ... ยังไงก็อย่าลืมหาเตารีดด่วนนะ
 
โดเบอร์แมน:

 
เห็นรูปร่างและหุ่นเจ้าตูบพันธ์นี้แล้ว ดูสง่างามมาก ซึ่งสมัยก่อนตำรวจ ทหาร มักจะนำเจ้าตูบพันธุ์นี้มาฝึกตามศูนย์ สมัยนี้นิยมนำ อัสเซเชี่ยน มาฝึกดมยาเสพติดมากกว่า และถือได้ว่าเป็นหมาที่มีระเบียบวินัยมากๆ เพราะเป็นหมาที่ดูสง่า เลยมักจะถูกเรียกอย่างเต็มยศว่า เจ้าตูบ โดเบอร์แมน แอนด์ แฮนซั่ม...เชียวล่ะ แต่ต้องทำใจนิดนึงเพราะนิสัยช่างขี้ตกใจและขี้ระแวงเหลือเกิน ... ซึ่งเจ้าของที่เลี้ยงพันธุ์นี้มักจะมีนิสัย จู้จี้ ขี้หงุดหงิด รักความเป็นระเบียบและอยู่ในกรอบ... อืมม์! แล้วงี้ต้องตะเบ๊ะ ทั้งตอนเช้าและก่อนนอนหรือเปล่าเนี่ย
 
โกลเด้นรีทริฟเวอร์ : 

 
แค่เอ่ยชื่อก็รู้แล้วว่าเป็นหมาที่ฉลาดเพราะพันธุ์นี้มักจะเข้าฉากละครอยู่บ่อยๆ เป็นหมาที่มีขนสีทองสวยมากนิสัยเชื่องและฝึกง่าย..แต่อย่าให้โมโหเชียวเห่าแบบไม่หยุดเลยทีเดียว เจ้าของที่เลี้ยงหมาพันธุ์นี้มักจะมีนิสัยที่ว่านอนสอนง่าย ไม่ค่อยดื้อเท่าไหร่ แต่อย่าปล่อยให้ออกนอกลู่นอกทางเชียวม่ายง้านเสียหมา ! เอ๊ย เสียคน แบบกู่ไม่กลับเลยน้า.......แหม! ก็ติดใจแล้วนี่นา
 
ดัลเมอร์เชียน :

 
จัดได้ว่าเป็นหมาที่ซุกซนอันดับต้นๆ เลยทีเดียว ก็เพราะเจ้า 100 จุด น่ะ มักจะคิดว่าตัวเองสวยและแปลกกว่าพันธุ์อื่นๆ ก็ตรงที่มีหลายจุดนี่ล่ะ ถึงได้ชอบวิ่งไปวิ่งมาอวดสรีระของตัวเองซะงั้น เจ้าของที่ชอบเจ้าตูบพันธุ์นี้ส่วนใหญ่มักเป็นคนที่สนุกสนาน ร่าเริง มองโลกในแง่ดี มีเสน่ห์ในตัวเอง เป็นที่ต้องตาต้องใจของฝ่ายตรงข้าม ... ถ้าเป็นเจ้าตูบ 100 จุดน่ะ น่ารักจ้า... แต่ถ้าคน 100 จุด น่ะ อันนี้เสียว...นะ
 
ดัชชุน :

 
ถูกขนานนามว่าเป็นหมาพันธุ์ไส้กรอก เพราะลำตัวยาวคลานต้วมเตี้ยม ทั้งสั้นทั้งยาวอย่างนี้ลำบากจะแย่ ยิ่งเจ้าของพาไปทำหมันเ ด็กๆ ชอบเรียกว่าเจ้าหมาหมูหรือเจ้ากัชกุน มาจากดัชชุน + ปีกุน (หมู) เจ้าของที่เลี้ยงหมาพันธุ์นี้เป็นคนเฉยๆ ขี้เกียจเป็นบางครั้งทำโน่นทำนี่ ซึ่งมักจะมีข้ออ้างเสมอ ...แต่ถ้าขยันขึ้นมาก็บ้างานไม่หยุดเช่นกัน...เอ้า ! ถึงเวลานอนกลางวันแล้วครับ ! เจ้านาย....
 
พูดเดิ้ล : 

 
พูดถึงหมาพันธุ์พูดเดิ้ลแล้วนึกถึงความสวยงามของขนเจ้าเดิ้ลเลยล่ะ เจ้าของส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง ขนสวยขนาดนี้เจ้าของมักจะพาเข้าร้านเสริมสวยหมา ตัดแต่งขนซะออกมาเหมือนลูกแกะเชียว บางรายถึงกับย้อมให้เป็นสีสัน หรือไม่ก็จับน้องเดิ้ลสวมเสื้อใส่กระโปรงซะง้าน... เจ้าของที่เลี้ยงหมาพันธุ์นี้เป็นคนที่รักสวยรักงามประมาณว่า ถ้าชั้นสวยหมาก็ต้องสวยเหมือนชั้น เอ๊ย ! หมาชั้นก็ต้องสวยเช่นกัน... ยิ่งคนถ้ารักถ้าผูกผันกันมากๆ เจ้าของผูกโบว์สีไหนเจ้าเดิ้ลก็ผูกโบว์สีเดียวกับเจ้าของนั่นหละ อืมม์ ! อย่างงี้เรียกแฝดคนละฝารึเปล่าเนี่ย



Monday, May 20, 2013

สายพันธุ์สุนัขที่ดุที่สุดในไทย




ซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่เห็นสุนัขสายพันธุ์ดุ จองพื้นที่หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์บ้านเราอยู่เป็นระยะๆ หลายคนถูกขย้ำบาดเจ็บสาหัส และที่ร้ายแรงที่สุดถึงขั้นเสียชีวิตก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และบ่อยครั้งที่เหยื่ออันโอชะนั้นเป็นเจ้าของเสียเอง โดยไม่เคยคิดเลยว่าเจ้าเพื่อนยากที่อยู่ด้วยกันมานาน วันหนึ่งจะฆาตกรรมกันอย่างไม่ทันระวังตัวตามสัญชาตญาณสัตว์ สุนัขเป็นนักล่ามาแต่ครั้งอดีต ผู้เลี้ยงจึงต้องเรียนรู้ในธรรมชาติของสุนัขแต่ละสายพันธุ์ เพื่อให้คนรักสุนัขได้ระวังตัวในช่วงเวลาที่ไม่สบอารมณ์ของมัน และเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นโดยไม่คาดคิด เราจะได้เตรียมรับมืออย่างทันท่วงที
 
สายพันธุ์สุนัขที่คนต้องผวา
 
ความดุร้ายไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของตัว หมาเล็ก-หมาใหญ่ก็กัดได้เหมือนกัน เพียงแค่ตัวไหนเขี้ยวจะฝังลึกกว่ากันเท่านั้นเอง M-Pet จึงจัดอันดับสายพันธุ์สุนัขดุที่สุดที่คนไทยนิยมเลี้ยง โดยสอบถามข้อมูลความรู้จากทีมสัตวแพทย์คลินิกพฤติกรรม โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ
 
1. ร็อตไวเลอร์ (Rottweiler)

 
ครองความดุเป็นอันดับหนึ่งมาหลายสมัย ถือเป็นสุนัขพันธุ์ดุที่สุดที่คนไทยนิยมเลี้ยง ก่อนหน้านี้เคยเป็นข่าวว่ากัดคนอยู่ระยะหนึ่ง และถือว่าเป็นพันธุ์ที่กัดคนค่อนข้างบ่อย จึงทำให้คนนิยมเลี้ยงลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะเด็กต้องระวังให้ดี เพราะด้วยสัญชาตญาณนักล่าที่อยู่ในตัว และถูกฝึกมาให้ล่าสัตว์เล็กเช่น กระต่าย นกยูง ทั้งนิสัยที่ดุไม่ค่อยรู้เรื่อง ไม่ไตร่ตรองว่าจะเป็นเจ้าของหรือใครทั้งนั้น อาจด้วยเพราะเป็นสุนัขขี้หงุดหงิด ดื้อเงียบ จึงควบคุมยาก และบางครั้งอาจทำให้เจ้าของเจ็บตัวโดยไม่ได้ตั้งใจ ด้วยความที่มีพละกำลังมากนั่นเอง

2. บางแก้ว (Bangkaew)

 
บางแก้วเป็นสุนัขพันธุ์ไทยแท้ ที่คนไทยต้องยกโล่ห์ให้แก่ความดุของมันอีกพันธุ์หนึ่ง ส่วนใหญ่คนนิยมเลี้ยงไว้เฝ้าบ้าน เพราะด้วยนิสัยที่ดุมาก เมื่อไม่พอใจจะกัดทันที โดยบางครั้งไม่แสดงอากัปกิริยาการเห่าเลย และมีให้เห็นบ่อยครั้งที่เจ้าของโดนกัดเสียเองแม้ว่าจะกระดิกหางอยู่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่กัด เมื่อเทียบความดุอาจมีมากถึง 7 ใน 10 ตัวเลยทีเดียว

3. ไทยหลังอาน (Thai Ridgeback)

 
ไทยหลังอานเป็นสุนัขพันธุ์ไทยแท้อีกพันธุ์หนึ่งที่ดุไม่แพ้พันธุ์บางแก้ว ซึ่งระดับความดุอาจไม่เทียบเท่า แต่มีพละกำลังค่อนข้างมาก เนื่องจากมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง นิสัยของพันธุ์ไทยหลังอานจะไม่ค่อยขู่คน แต่กัดเลย เพราะการเลี้ยงดูและถูกฝึกมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษให้เฝ้าบ้าน ป้องกันภัย จึงมีนิสัยค่อนข้างฉลาด และดุเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน

4. โดเบอร์แมน (Doberman)

 
เมื่อก่อนคนนิยมเลี้ยงค่อนข้างมาก แต่ปัจจุบันไม่ค่อยมีคนเลี้ยงแล้ว เป็นสุนัขค่อนข้างฉลาด ฝึกง่าย นิยมลี้ยงไว้เฝ้ายาม (Guard dog) จึงมีนิสัยค่อนข้างดุพอสมควร แต่ไม่เท่าพันธุ์ร็อตไวเลอร์ และค่อนข้างรู้เรื่องว่าต้องดุกับใคร เช่น คนที่แต่งตัวรุ่มร่าม มีกลิ่นเหม็น กลุ่มนี้จะเข้าข่ายถูกจู่โจมได้ง่าย ในยุโรปเป็นสุนัขพันธุ์หนึ่งที่ใช้ล่าเนื้อ เพราะความปราดเปรียวและโครงร่างที่สูงใหญ่ของมันนั่นเอง

5. เยอรมัน เชพเพิร์ด (German Shepherd)

 
เยอรมัน เชพเพิร์ดหรือบางคนเรียกว่าอัลเซเชียน (Alsatian) เป็นสุนัขพันธุ์หนึ่งที่ขึ้นชื่อว่าฉลาดที่สุด และถือว่ามีความดุมากไม่แพ้กัน ด้วยขนาดตัวที่ใหญ่พอๆ กับร็อตไวเลอร์ มีเขี้ยวเล็บแหลมคม ว่องไว
ถ้าเจ้าของไม่ฝึกควบคุมให้เชื่อฟังคำสั่ง อาจทำร้ายคนอื่นได้ แต่ไม่ค่อยเกิดเหตุการณ์ร้ายๆ จากสุนัขพันธุ์นี้เท่าไหร่ จึงอยู่ในคราบพระเอกมากกว่าผู้ร้าย

6. อเมริกัน พิทบูลล์ เทอร์เรีย (American Pit Bull Terrier)

 
ขึ้นชื่อว่าเป็นสุนัข Fighting dog ซึ่งในต่างประเทศนิยมเลี้ยงเอาไว้กัดกัน จึงถือเป็นเกมกีฬาอย่างหนึ่ง เพราะโครงสร้างที่แข็งแรงและลักษณะนิสัยในการต่อสู้ที่ไม่ยอมแพ้ ถ้าอีกตัวยังไม่ตายก็จะไม่เลิกรา จึงเป็นนักสู้และดุร้ายเฉพาะสัตว์ด้วยกัน จริงๆ แล้วพันธุ์นี้จะไม่ดุกับคน และรักเจ้าของมากด้วยซ้ำ เพียงแต่ไม่ค่อยแสดงออก จึงเป็นเรื่องน่าตกใจจากข่าวที่ผ่านมาว่ากัดคนถึงตาย สาเหตุหนึ่งอาจเพราะจำนวนคนที่กำลังนิยมเลี้ยงสุนัขพันธุ์นี้ในเมืองไทย เพิ่มขึ้นด้วย จึงมีโอกาสตกเป็นข่าวหน้าหนึ่งมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ

7. บูลล์เทอร์เรีย (Bull Terrier)

 
คนส่วนใหญ่จะเลี้ยงสุนัขพันธุ์นี้ไว้เป็นเพื่อนเล่น เพราะมีหน้าตาตลกและนิสัยที่น่ารัก แต่อีกมุมหนึ่งของ บูลล์เทอร์เรียถือเป็น Fighting dog เช่นเดียวกับ อเมริกัน พิทบูลล์ เทอร์เรีย จึงมีเลือดนักสู้อยู่ในตัวไม่ต่างกัน
 
นอกจากสุนัขพันธุ์ใหญ่ที่มีลักษณะนิสัยเป็นทั้ง Guard dog และ Fighting dog ตามสัญชาตญาณจึงมีความดุร้ายอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่แค่ความแข็งแรง โครงสร้างที่ใหญ่เท่านั้นที่บ่งบอกถึงความดุ สุนัขพันธุ์เล็กที่นิยมเลี้ยงในบ้านเราก็ไม่ธรรมดาเหมือนกัน แม้ว่าไม่ถึงขนาดเข้าจู่โจม แต่ก็ไม่ชอบให้ใครมายุ่งมากนัก อย่างเช่น เชาเชา (Chow Chow)”
เป็นสัตว์มีโลกส่วนตัวสูง ไม่ชอบให้คนจับหรือบังคับ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สุนัขไม่สบายตัว ไม่สบายใจ และกัดคนได้


ความดุที่รองลงมาคือ ชาร์ไป (Sharpei)”


มีนิสัยคล้ายกับเชาเชา ในลักษณะที่เป็น หมาถือตัวเหมือนกัน เพียงแต่เชาเชามีขนยาวในขณะที่ชาร์ไปมีขนสั้น และตัวสูงกว่ากันเล็กน้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ 

นอกจากนี้ยังมี ปอมเมอเรเนียน (Pomeranian)” ส่วนใหญ่จะให้แค่เจ้าของอุ้ม ไม่ชอบให้คนอื่นมาอุ้ม เอาแต่ใจตัวเอง 


และอีกสายพันธุ์ที่มีนิสัยหวงตัวพอๆ กันก็คือ มิเนเจอร์ พินช์เชอร์ (Miniature Pinscher)” ต่างเห่าเก่งด้วยกันทั้งคู่

 
เลี้ยงหมาดุให้เชื่อง

ตอนนี้หลายคนคงผวา เมื่อรู้ว่าเจ้าตูบที่บ้านอยู่ในอันดับหมาดุเสียแล้ว แต่อย่าเพิ่งตกใจเพราะไม่ใช่ว่าทุกตัวจะดุทั้งหมด การยับยั้งความดุร้ายของสุนัขตามสัญชาตญาณสามารถควบคุมได้ เมื่อคนนำมาฝึกให้เชื่อฟังคำสั่งความดุร้ายจะถูกลดทอนลง ทำให้คนเลี้ยงและสุนัขมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู การให้ความรัก การเอาใจใส่จากเจ้าของ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก เพราะสุนัขก็มีหัวใจ มีความรู้สึกไม่ต่างจากคน 

ร.ท.อำพล บำรุงไทย ครูฝึกสุนัข โรงเรียนสุนัขทหาร ศูนย์การสุนัขทหาร กรมการสัตว์ทหารบก กล่าวถึงคำจำกัดความที่ว่า ความดุต้องอยู่ใน การควบคุมว่า ถึงแม้เราจะเลี้ยงสุนัขด้วยอาหารดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่ฝึกให้สุนัขเชื่อฟังคำสั่งพื้นฐานเขาก็ไม่รู้ความต้องการของเรา เมื่อสุนัขดุแล้วเราควบคุมไม่ได้มันจึงอันตรายมาก สำหรับในโรงเรียนฝึกสุนัขทหาร การลดความดุของสุนัข คือการฝึกให้เชื่อฟังคำสั่ง นี่แหละคือหัวใจของมัน
 
การฝึกเชื่อฟังคำสั่งเป็นการระงับการแสดงตามอารมณ์ของตัวเอง ถ้าเราเป็นคนฝึก แสดงว่าเราเป็นผู้บังคับ สุนัขก็จะเชื่อฟังคำสั่งเรา หากสุนัขมีความดุในสายเลือดของมัน แต่นำมาฝึกให้เชื่อฟังคำสั่งเราจะสามารถควบคุมได้

สุนัขที่ใช้ทางทหารมี 4 สายพันธุ์หลักคือ พันธุ์เยอรมัน เชพเพิร์ด, ลาบราดอร์, ร็อตไวเลอร์ และโดเบอร์แมน จะเห็นว่ามีแต่พันธุ์ดุๆ ตัวใหญ่ๆ คมเขี้ยวแข็งแรง ซึ่งแต่ละตัวถูกฝึกมาตามวัตถุประสงค์ และรับรองว่าถ้าออกไปข้างนอกไม่มีกัดคนแน่นอน เพราะถูกฝึกให้เชื่อฟังคำสั่งจึงควบคุมได้ทั้งหมด

ในกรณีฝึกเชื่อฟังคำสั่งสำหรับผู้เลี้ยงทั่วไป กระทำโดยการผูกสายจูง และห้ามโดยใช้เสียงสั่งว่า ไม่ในขณะที่สุนัขทำในสิ่งที่เราไม่ต้องการ สิ่งไหนที่สุนัขแสดงออกมา แต่เราไม่ต้องการจึงต้องฝึกควบคุม

เมื่อทำอย่างนี้ทุกวันสุนัขจะเชื่อฟังคำสั่ง จึงเป็นการห้ามเพื่อไม่ให้พฤติกรรมของสุนัขที่เราไม่ต้องการเหล่านั้นเกิด ขึ้นอีกในอนาคต อย่างน้อยถ้าเราไม่ฝึกเป็นทางการก็ควรฝึกการควบคุมพฤติกรรมของมัน อาจฟังเหมือนง่าย แต่ถ้าอยากให้สุนัขเป็นเพื่อนแท้ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก
 
การฝึกควบคุมจะต้องทำด้วยท่าทางและห้ามด้วยเสียง ยิ่งสุนัขเล็กจะควบคุมง่าย ถ้าฝึกเดินออกไปข้างนอกบ่อยๆ ทำให้สร้างความคุ้นเคยกับคน ไม่หวาดระแวง เพราะสัญชาตญาณของสุนัขคือการต่อสู้ ความดุร้ายขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ซึ่งเหมาะกับการเลี้ยงหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ เช่น สุนัขเฝ้าบ้านและสุนัขเลี้ยงดูเล่นก็ต้องเลือกสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน

แต่หลักๆ ในการควบคุมสุนัข คือ ต้องให้ความรัก ความเมตตา พาเข้าสังคมเพื่อสร้างความคุ้นเคย เพราะการป้องกัน คือการเลี้ยงดู ถ้าเป็นเจ้าของแต่ไม่ได้ดูแลก็จะถูกกัดได้ และถ้ายิ่งเอาไปขังกรง สุนัขจะยิ่งเกิดความเครียดโดยเฉพาะสุนัขที่ดุตามสายพันธุ์ของมันแล้ว อย่างร็อตไวเลอร์ และ อเมริกัน พิทบูลล์ เทอร์เรีย ก็จะยิ่งกระตุ้นความดุร้าย เมื่อไม่เคยถูกฝึกควบคุม สุนัขก็จะไม่เชื่อฟัง
 
การเลี้ยงสุนัขต้องออกสังคมตั้งแต่วัยเด็ก หมายถึง การสร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมทั่วๆ ไป แต่ที่เกิดปัญหาก็คือ สุนัขที่เลี้ยงอยู่ในบ้านไม่เคยออกไปไหนเลย จึงเหมือนการถูกคุมขัง ทำให้สภาพจิตใจสูญเสียความเป็นอิสรภาพ และเมื่อมีโอกาสก็จะแสดงออกตามใจตัวเอง

เมื่อตกเป็นเหยื่อเจ้าตูบ!
 
สุนัขบางสายพันธุ์ที่ไม่เคยถูกฝึกมาจึงมีพฤติกรรมคุ้มดีคุ้มร้าย บางตัวกระดิกหาง แต่ขู่กรรโชก บางตัวมีหน้าตาเป็นมิตร แต่พอเผลอก็กัดอย่างเอาเป็นเอาตาย แล้วคนเลี้ยงจะมีวิธีการหลีกเลี่ยงภัยจากเจ้าสุนัขที่เอาแน่เอานอนไม่ได้นี้ อย่างไร
 
ร.ท. อำพล บำรุงไทย กล่าวต่อว่า ถ้าเราดูทั่วไปสุนัขบางสายพันธุ์ โดยเฉพาะ อเมริกัน พิทบูลล์ เทอร์เรียจะดูยาก เพราะเป็นสุนัขที่เก็บอาการได้ดีมาก แสดงพฤติกรรมบางทีเข้าไปใกล้ๆ เหมือนจะเป็นมิตร แต่พอคนเผลอก็กระโดดเข้ากัด อาการที่แสดงออกของสุนัขดุโดยทั่วไป คือ สายตาขวาง จ้องมองอย่างไม่ไว้ใจ เห่า ขู่กรรโชก นี่เป็นพฤติกรรมภายนอกที่สุนัขแสดงออกมาถึงความดุร้าย
 
เมื่อสุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงที่นิยมมากที่สุดในประเทศไทย หลายคนอาจเคยประสบเหตุการณ์โดนสุนัขจู่โจมหรือเข้ามาทำร้าย หรือถ้าโชคดีหน่อยอย่างน้อยๆ ไม่ได้ตกเป็นเหยื่ออันโอชะ แค่อยู่ในสถานการณ์นั้นร่วมด้วย เราจึงควรรู้วิธีป้องกันตัวเองและช่วยเหลือเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายให้ได้มากที่สุด
 
สุนัขโดยสัญชาตญาณแล้วมันจะล่าเหยื่อในขณะเคลื่อนที่เป็นหลัก ถ้ายิ่งเคลื่อนไหวร่างกาย วิ่งหนีรนรานจะยิ่งสร้างความดุร้ายให้สุนัขมากขึ้น เหมือนเป็นการยั่วยุไปในตัว ทำให้สุนัขกระหายที่จะเข้าไปจู่โจม ฉะนั้นต้องเป็นลักษณะหยุดการเคลื่อนไหว จะลดการจู่โจมลงได้ระดับหนึ่ง จากนั้นควรหาทางหลบเลี่ยงออกไปในทางที่สุนัขไม่สนใจก็จะรอดพ้นจากการถูกสุนัขกัดได้

 สำหรับการช่วยเหลือคนที่กำลังถูกสุนัขกัดสุนัขโดยทั่วไปจะกัดแล้วสะบัดทิ้ง เราควรใช้น้ำเสียงห้ามโดยธรรมชาติ ไม่ตะโกนออกมาดังๆ จะทำให้สุนัขชะงักระดับหนึ่ง หรืออาจใช้อุปกรณ์อะไรก็ได้ที่ทำให้สุนัขหันเหความสนใจจากเป้าหมายนั้นแล้ว จึงร้องเรียกคนรอบข้างหรือคนที่เป็นเจ้าของสุนัขให้มาช่วยเหลือกันร.ท. อำพล กล่าวเสริม

ถ้าได้ติดตามหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งเกี่ยวกับคนถูกสุนัขทำร้าย อาจได้เห็นข่าวเจ้า ไข่ตุ๋นสุนัขพันธุ์ อเมริกัน พิทบูลล์ เทอร์เรีย ที่กัดคุณยายเจ้าของจนเสียชีวิต คนในบ้านทำใจไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงนำไปไว้ที่กรมปศุสัตว์ แต่ขณะนี้ศูนย์ฝึกสุนัขมหัศจรรย์โจโจ้เฮาส์รับไปเลี้ยงดูแทนแล้ว โจอี้-สุนทรา สัจจะวัชรพงศ์ เจ้าของศูนย์ฝึกสุนัขโจโจ้เฮาส์ Dog Master เล่าให้ฟังว่า เรารับไข่ตุ๋นมาดูแลต่อมาจากกรมปศุสัตว์ ซึ่งสุนัขพันธุ์นี้เราสามารถนำมาฝึกได้ ไม่เฉพาะพันธุ์ อเมริกัน พิทบูลล์ เทอร์เรีย เท่านั้น ไม่ว่าพันธุ์ไหนก็ฝึกได้เหมือนกันหมด 

หมามันไม่มีความผิดนะ มันอยู่ที่การเลี้ยงดู พฤติกรรมที่มันพบเจอมาตั้งแต่เด็ก แต่ที่มันกัดเจ้าของหรือคนอื่นๆ เพราะอาจเคยถูกรังแกมา หรือไม่ค่อยได้เข้าสังคมเลย พอหลายคนที่เลี้ยงสุนัขพันธุ์ อเมริกัน พิทบูลล์ เทอร์เรีย เห็นข่าวการทำร้ายคนถึงตาย จึงเกิดความกลัวว่าเจ้าตูบของตัวเองซึ่งเป็นสายพันธุ์เดียวกันนี้จะกัดคนใน ครอบครัวหรือคนอื่นได้
 
แต่อย่างที่บอกสุนัขพันธุ์นี้มีนิสัยรักและซื่อสัตย์ต่อเจ้าของมาก ถ้าดูแลเอาใจใส่และให้ความรักความเอ็นดูอย่างสม่ำเสมอ และไม่ว่าจะเป็นสุนัขสายพันธุ์ใด เมื่อเจ้าของไม่ทอดทิ้งมัน ความผูกพันก็จะทลายความดุร้ายที่มีต่อคนได้

ข้อควรรู้ก่อนเลี้ยงสุนัข

1. ผู้เลี้ยงต้องรู้ก่อนว่าจะเลี้ยงสุนัขเพื่อวัตถุประสงค์ใด
2. ควรเลือกสายพันธุ์สุนัขที่เหมาะสมกับการเลี้ยงตามความต้องการของตัวเอง
3. เลือกสถานที่และสิ่งแวดล้อมสำหรับการเลี้ยงอย่างเหมาะสม
4. ต้องศึกษาจิตวิทยาสายพันธุ์ของสุนัขที่จะนำมาเลี้ยง
5. ควรมีความรู้ทางด้านสุขาภิบาล หรือการดูแลสุขภาพพื้นฐานของสัตว์เลี้ยงทั่วไป
6. ต้องศึกษาเรียนรู้การฝึกและการควบคุมสุนัข

แหล่งที่มา  http://sangwankennels.wordpress.com