Wednesday, November 27, 2013

การทำความสะอาดหูให้หมาแมว




          หูของสัตว์เลี้ยงมักจะเป็นรูปตัว" L" มากกว่าหูของคนและเศษเนื้อเยื่อหรือขี้หูจึงมักจะถูกเก็บสะสมอยู่บริเวณมุมของตัว "L" การ กำจัดขี้หูที่สะสมในช่องหู สามารถทำได้ด้วยการใส่น้ำยาสำหรับทำความสะอาดหูลงไปในช่องหู ทั้งนี้ น้ำยาล้างหูที่ดีควรมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ แต่ไม่ควรใช้วิธีการแทง กระแทก ควรบีบนวดบริเวณโคนหูประมาณ 20-30 วินาที เพื่อทำให้เศษเนื้อเยื่ออ่อนนุ่มและหลุดออกมา

          จากนั้น ทำการเช็ดเอาเศษเนื้อเยื่อที่หลุดออกและใช้ก้านไม้ที่พันด้วยสำลีที่ชุบให้ชุ่มไปด้วยน้ำยาทำความสะอาดช่องหู ให้ทำซ้ำๆ กันจนไม่พบว่ามีเศษเนื้อเยื่อหรือขี้หูหลงเหลืออยู่ในช่องหูอีก ถ้าสภาพภายในช่องหูมีเนื่อเยื่อ หรือขี้หูมาก อาจจะทำความสะอาดตามวิธีดังกล่าววันละ 2 ครั้ง

          อาจจะใช้ก้านไม้พันด้วยสำลี หรือ cotton bud ในการทำความสะอาดช่องหู และด้านในของใบหู แต่ไม่ควรแหย่ให้ลึกเข้าไปในช่องหูมากนัก เพราะจะทำให้ขี้หูหรือเศษเนื้อเยื่ออัดกันแน่นภายในช่องหูมากกว่าเป็นการเขี่ยเอามันออกมา

          สัตว์บางตัวพบมีว่าปัญหาของช่องหูที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความเจ็บปวด การทำความสะอาด หรือขณะให้การรักษาอาจจะมีความจำเป็นต้องทำให้สลบเสียก่อน แต่ในบางครั้งสัตว์จะไม่ยอมให้ทำความสะอาดหูของมัน เพราะมันไม่ชอบ มันรำคาญ เจ้าของจะต้องพูดคุยกับมัน ให้มันผ่อนคลายในระหว่างที่ทำความสะอาด ถ้ามันเชื่อฟังควรต้องชมเชย ให้รางวัล

          หลังจากทำความสะอาดหูแล้ว ปล่อยให้มันสั่น หรือสะบัดหัวได้และปล่อยให้แห้ง หลังจากนั้นจึงค่อยใส่ยาให้

 การป้องกันโรคหู

          หัวใจสำคัญในการทำให้ช่องหูสัตว์เลี้ยงมีสุขภาพดีคือ ความสะอาด ดังนั้น ควรตรวจสอบช่องหูของสัตว์เลี้ยงของท่านทุกสัปดาห์ การพบว่ามีขี้หูเพียงเล็กน้อยถือว่าเป็นสิ่งปกติ ถ้าสัตว์เลี้ยงชอบเล่นน้ำมาก หรือมีใบหูยาวห้อย หรือมีประวัติโรคของช่องหู แนะนำให้ทำความสะอาดช่องหูเป็นประจำ(2-3 ครั้งต่อสัปดาห์) ด้วยวิธีการดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

          และถ้ารอบ ๆ ช่องหูมีขนยาวมาก ให้ตัดให้สั้น เพื่อให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก การรักษาโรคของช่องหูควรรักษา หรือกำจัดสาเหตุของโรค ซึ่งเป็นเหตุโน้มนำทำให้เกิดปัญหาของช่องหูจึงจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ สูงสุด

          พึงระลึกไว้เสมอว่า ถ้าสัตว์เลี้ยงของท่านรู้สึกไม่สะดวกสะบาย กระวนกระวายอย่างมากแสดงให้เห็น ช่องหูมีกลิ่นเหม็นมาก หรือช่องหูมีความผิดปกติ ไม่ควรรีรอที่จะนำมันมาพบสัตวแพทย์ ถ้าเยื่อแก้วหูของสัตว์เลี้ยงของท่านเกิดความเสียหาย การใช้ยาบางชนิด หรือน้ำยาทำความสะอาดช่องหูบางชนิดอาจจะเป็นอันตรายมากกว่าเป็นการรักษา ดังนั้นจึงควรปรึกษาสัตวแพทย์


แหล่งที่มา  http://pet.kapook.com, ม.เกษตรฯ
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Sunday, November 10, 2013

6 วิธีกำจัดกลิ่นฉี่สัตว์เลี้ยง บนพรมผืนโปรด




         สัตว์เลี้ยงน่ารักอย่างน้องหมา น้องแมว มีไว้ก็ช่วยให้หายเหงาได้ไม่น้อย แต่เหล่าคนรักสัตว์ก็จำต้องยอมรับปัญหาเรื่องสิ่งปฏิกูลของเจ้าสี่ขาอย่าง ช่วยไม่ได้ ถ้าดูแลจัดการได้ดีก็หายห่วง แต่ถ้าเกิดฝึกเขาแล้วยังติดนิสัยฉี่เรี่ยราดใส่พรมอีกก็คงเพลียใจเพราะกลิ่น ฉุน ๆ น่าดู ถ้าเจอปัญหาน่าปวดหัวแบบนี้รีบแก้ไขโดยด่วนด้วยวิธีต่อไปนี้ดีกว่าค่ะ

1. อย่าใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีแอมโมเนีย

          เมื่อน้องหมาน้องแมวฉี่ใส่พรม เราก็คงวุ่นวายหาวิธีจัดการกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ออกอย่างรวดเร็ว แต่ถึงจะรีบยังไงก็อย่าเผลอใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีแอมโมเนียเป็นส่วน ผสมเด็ดขาด ถ้าไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง เพราะในฉี่ของเจ้าสี่ขา ก็มีแอมโมเนียอยู่เหมือนกัน ซึ่งอาจทำให้เขาสับสนได้ว่ากลิ่นผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ก็คือกลิ่นฉี่ของเขา จนอาจจะฉี่ซ้ำรอยเดิมเป๊ะ ๆ ตามสัญชาตญาณนั่นเอง

2. ซับให้แห้งโดยเร็ว

          ถ้าสัตว์เลี้ยงเพิ่งปล่อยของเสียออกมาใหม่ ๆ ให้รีบใช้ทิชชูซับน้ำออกจากพรมให้ได้มากที่สุดทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ฉี่ของเขาซึมลึกฝังแน่นบนพรม จนกำจัดออกยาก หรือถ้ามีเครื่องดูดฝุ่นชนิดที่สามารถดูดได้ทั้งแห้งและเปียก ก็ให้รีบนำมาใช้กับรอยเปื้อนโดยด่วนเลยค่ะ

3. กำจัดกลิ่นด้วยน้ำส้มสายชู

          หลังจากซับสิ่งปฏิกูลของน้องหมา น้องแมวจนเกือบหมดแล้ว ให้ผสมน้ำสายชู กับน้ำธรรมดา ในปริมาณเท่า ๆ กัน แล้วนำมาซับลงไปบนพรมจนชุ่มพอประมาณ เสร็จแล้วให้รีบนำกระดาษทิชชูหรือผ้าแห้งซับอีกครั้งให้แห้งให้ได้มากที่สุด กรดในน้ำส้มสายชูจะช่วยกำจัดกลิ่นฉี่ของน้องหมา น้องแมว ได้หายห่วง หมดปัญหาเจ้าสี่ขากลับมาฉี่ซ้ำรอยเดิมแน่นอน

4. ย้ำอีกครั้งด้วยเบกกิ้งโซดา

          หากกลัวว่าน้ำส้มสายชูอาจจะช่วยดับกลิ่นได้ไม่ดีพอ ก็ลองโรยผงเบกกิ้งโซดาลงบนจุดที่มีปัญหาสักนิด แล้วใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ทำความสะอาดอีก ครั้ง อย่าลืมเช็กดูให้ดีด้วยว่า ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ไม่มีส่วนผสมของแอมโมเนียด้วยนะคะ เสร็จแล้วก็ซับพรมให้แห้งด้วยผ้าอีกรอบก็เรียบร้อย

5. กำจัดคราบฝังแน่นให้หมดจด
         
          สำหรับกลิ่นฉี่ที่ฝังแน่นอยู่นานแล้วบนพรม ให้ใช้น้ำเจือจางคราบก่อน แล้วใช้น้ำยาทำความสะอาดที่ไม่มีส่วนผสมของแอมโมเนียทำความสะอาดอีกครั้ง จากนั้นให้นำผ้าขนหนูชุบน้ำกลั่นมาวาง แล้วทับด้วยของมีน้ำหนัก เช่น หนังสือเล่มใหญ่ ๆ หรือก้อนอิฐ ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง วางผ้าแห้งไว้รอบ ๆ เพื่อให้คอยซับน้ำส่วนเกินที่ซึมออกมาด้วยก็ดีค่ะ ขั้นตอนสุดท้ายให้โรยเบกกิ้งโซดา แล้วใช้เครื่องดูดฝุ่นชนิดแห้งและเปียกดูดผงเบกกิ้งโซดาและความชื้นออกจาก พรมให้หมด

6. มองหาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม

          เพื่อการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด ลองมองหาผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ของสัตว์เลี้ยงจากร้าน ขายของสำหรับน้องหมา น้องแมว โดยเฉพาะก็ได้ เพราะที่นั่นจะมีผลิตภัณฑ์หลายชนิดให้คุณได้เลือกมาลองใช้ดู ถ้าเป็นไปได้ควรจะลองใช้ผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย เพื่อจะได้รู้ว่าผลิตภัณฑ์แบบไหนใช้ได้ผลดีที่สุด แต่ก็อย่าลืมนะคะว่าไม่มีผลิตภัณฑ์ไหนในโลกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วจะแก้ปัญหา ให้คุณได้ทันทีเลย โดยเฉพาะกับรอยเปื้อนที่ฝังแน่นมานาน ดังนั้นก็ควรทำความสะอาดซ้ำหลาย ๆ ครั้ง แล้วคอยดูว่าผลิตภัณฑ์ไหนที่ทำให้คุณเหนื่อยน้อยที่สุดค่ะ

          ถ้าเจ้าสี่ขาตัววุ่นของเราเขารู้เรื่องกว่านี้ ก็คงไม่อยากสร้างความวุ่นวายให้เราอย่างแน่นอนล่ะค่ะ แต่ปัญหาแบบนี้จริง ๆ ก็เป็นเหตุสุดวิสัย ดังนั้นเจ้าของอย่างเราก็ต้องคอยดูแลและแก้ปัญหากันต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าวิธีที่เรานำเสนอมาทั้งหมดนี้ จะเป็นตัวช่วยที่ดีของคุณได้อย่างแน่นอน ยังไงก็ลองนำไปใช้กันดูนะจ๊ะ


ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Friday, November 8, 2013

10 ไอเดีย ลดความซุกซนของเจ้าตูบ ขณะอยู่ในบ้าน




        เชื่อว่าหลายคนคงมีปัญหากับสุนัขของตัวเองไม่น้อยเวลาที่อยู่ร่วมกันในบ้าน เพราะนอกจากจะซุกซนคุ้ยของเป็นว่าเล่นแล้ว พวกมันยังชอบเดินไปเดินมา แถมบางครั้งก็มาปลุกคุณบนเตียงขณะที่กำลังนอนหลับ หรือกัดของรักของหวง อย่างเช่น ของแต่งบ้าน รองเท้า และหมอนเป็นว่าเล่นด้วย เจอแบบนี้ต้องจับมาอบรมสั่งสอนนิสัยกันเสียหน่อยแล้ว

1. สุนัขกัด

         สถานการณ์ - ขณะที่คุณกับสุนัขกำลังเล่นของเล่นด้วยกัน แล้วทันใดนั้นสุนัขก็งับมือคุณแทนที่จะเป็นของเล่น

         น้ำเสียง - ควรสั่งด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น ถึงแม้ว่าสุนัขจะไม่ได้ตั้งใจกัดจริง ๆ ก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้สุนัขทำแบบนี้กับคนอื่น

         ท่าทาง - หลังจากที่อุทานออกมาด้วยเสียงสูง ให้ใช้มือจับบริเวณที่โดนสุนัขกัดแล้วทำท่าทางคล้าย ๆ กับการร้องไห้ จากนั้นก็จะเข้าใจเองว่า การทำแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดี


2. สุนัขอยู่ในอันตราย

         สถานการณ์ - ขณะที่สุนัขกำลังวิ่งเล่น บังเอิญก็วิ่งไปชนกับเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใดชิ้นหนึ่งเข้าพอดี

         น้ำเสียง - พูดว่า ระวัง ! ขณะที่สุนัขอยู่ในอันตราย ไม่ใช่แค่การเตือนล่วงหน้า

         ท่าทาง - ถ้าคุณอยู่ใกล้ ๆ กับสุนัขให้ใช้มือหรือเท้าช่วยเคลื่อนย้ายสุนัขออกจากบริเวณนั้น

3. สุนัขส่งเสียงดัง

          สถานการณ์ - สุนัขเห่าเสียงดัง เมื่อมีคนมาที่บ้าน หรือหลังจากเสียงกริ่งดังขึ้น

          น้ำเสียง - พูดคำว่า "เงียบ" ด้วยเสียงดัง และหนักแน่น

          ท่าทาง - ใช้นิ้วชี้วางไว้ที่ริมฝีปากพร้อมกับมองไปที่ตาของสุนัข ลักษณะเดียวกับเวลาที่คุณสั่งให้เด็ก ๆ เงียบ


4. ลดความกลัว

          สถานการณ์ - สุนัขมีท่าทางหวาดกลัวสิ่งของ หรือเกิดสถานการณ์ที่ทำให้สุนัขตื่นตระหนก ตกใจ

          น้ำเสียง - ปลอบประโลมสุนัขด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล

          ท่าทาง - หลังจากที่สุนัขสงบลงแล้ว ให้คุณเข้าไปใกล้ ๆ แล้วจับมากอด


5. สุนัขอยากกินอาหารของคุณ

          สถานการณ์ - ขณะที่คุณกำลังกินอาหาร แล้วสุนัขเดินมานั่งใกล้ ๆ พร้อมกับเงยหน้าขึ้นมามองที่คุณ เพื่อขออาหาร

          น้ำเสียง - บอกกับสุนัขว่า อาหารหมดแล้ว ด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

          ท่าทาง - ในขณะที่คุณกำลังพูด ให้ผายมือออกไปให้สุนัขเห็นด้วย หลังจากที่สุนัขเห็นฝ่ามือว่างเปล่าของคุณ ก็จะเดินออกจากตรงนั้นไปเอง

6. สุนัขยืนขวางทาง

          สถานการณ์ - ขณะที่คุณกำลังสาละวนอยู่กับการทำอาหารในห้องครัว ไม่นานสุนัขก็เดินเข้ามาป้วนเปี้ยนอยู่รอบตัวคุณ

          น้ำเสียง - สั่งให้สุนัขเดินออกไปด้วยเสียงสูง และพูดซ้ำ ๆ ติด ๆ กัน

          ท่าทาง - ขณะที่กำลังพูดใช้มือดันหลังสุนัขให้เดินออกไป


7. สั่งให้หยุด

          สถานการณ์ - หากพบว่า สุนัขของคุณกำลังกัดสิ่งของอยู่อย่างสนุกสนาน

          น้ำเสียง - พูดด้วยน้ำเสียงโทนเดียวกับเสียงของคุณครูที่ใช้สั่งกับเด็ก ๆ

          ท่าทาง - แค่น้ำเสียงเข้ม ๆ ของคุณก็เพียงพอแล้ว

8. ห้าม (เตือน)

           สถานการณ์ - สุนัขกำลังทำท่าจะกัดหรือนำสิ่งของมาเล่น

           น้ำเสียง - สั่งให้ "หยุด" เพื่อเป็นการเตือนล่วงหน้า

           ท่าทาง ยื่นของเล่นชิ้นอื่นให้แทน

9. เลียมือ

          สถานการณ์ - สุนัขตัวน้อยของคุณมักจะเลียมือคนเป็นประจำ

          น้ำเสียง - สั่งห้ามด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล

          ท่าทาง - ดึงมือออกมา และลูบหัวแทน

10. แบ่งสิ่งของระหว่าง คุณ กับ สุนัข

          สถานการณ์ - คุณซื้อของมา 2 ชิ้น สำหรับตัวเองกับสุนัข

          น้ำเสียง - พูดคำแรกด้วยเสียงต่ำ และพูดคำต่อไปด้วยเสียงสูง

          ท่าทาง - ถือสิ่งของของคุณไว้ในมือ แล้วนำสิ่งของมาแนบกับอก พร้อมกับพูดคำว่า "ของฉัน" และวางสิ่งของอีกชิ้นเอาไว้ตรงขาหน้าสุนัขพร้อมกับพูดว่า "ของเธอ" หรือเปลี่ยนคำพูดให้นุ่มนวลขึ้น อย่างเช่น "ฉันให้ของชิ้นนี้กับเธอ" ก็ได้
        
          หวังว่าทั้ง 10 ไอเดียที่นำมาฝากกันในวันนี้จะช่วยให้สุนัขเชื่อฟังคำสั่งของคุณมากขึ้น และอยู่ร่วมกันในบ้านอย่างมีความสุข สนุกสนาน ในทุก ๆ วันนะคะ


ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็