Saturday, January 11, 2014

ข้อควรระวังเพื่อสุขภาพที่ดีของสัตว์เลี้ยง


ไม่มีอะไรที่จะสามารถทำลายบรรยากาศความสุขของวันหยุดได้เท่ากับการต้องพาสัตว์เลี้ยงของตัวเองไปหาสัตวแพทย์อีกแล้ว ดังนั้นก่อนที่เรื่องไม่คาดฝันจะเกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยง จนทำให้คุณต้องเสียเวลาอยู่ในโรงพยาบาลรักษาสัตว์เป็นวัน ๆ แทนที่จะออกไปเที่ยวเล่น หรือพักผ่อนอย่างที่คุณต้องการแล้วละก็ ก่อนจะถึงวันหยุดเรามาเตรียมความพร้อมกันดีกว่า เพื่อให้วันหยุดเป็นวันที่คุณและสัตว์สามารถออกไปท่องเที่ยวได้อย่างสบายใจ และไม่มีเรื่องติดค้างใด ๆ ให้ต้องกังวล

1. งดให้อาหารเหลือ

           นอกจากงดการให้อาหารที่เหลือจากโต๊ะอาหารแล้ว เจ้าของก็ไม่ควรให้สัตว์เลี้ยงเข้ามาเดินป้วนเปี้ยนอยู่แถว ๆ โต๊ะอาหารด้วยเช่นกัน เพราะในระหว่างที่พวกคุณรับประทานอาหารอาจจะมีเศษอาหารตกหล่น แล้วสัตว์เลี้ยงก็คาบไปรับประทานหรืออีกกรณีหนึ่งคือ เด็ก ๆ ในบ้านอาจให้เศษอาหารกับสัตว์เลี้ยงขณะที่คุณเผลอก็ได้ ซึ่งการให้เศษอาหารแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์นี่เองที่ทำให้สัตว์เลี้ยงล้มป่วย เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ เนื้อสัตว์ หนังสัตว์ปีก และกระดูก ซึ่งเข้าไปขัดขวางการย่อยอาหาร อันเป็นที่มาของโรคตับอ่อนอักเสบ โรคระบบทางเดินอาหาร

2. งดแต่งบ้านด้วยของที่มีลักษณะมันวาว

           สำหรับในช่วงวันสำคัญต่าง ๆ อย่างเช่น วันปีใหม่ วันคริสต์มาส หรือมีงานปาร์ตี้ที่บ้าน ควรงดประดับประดาบ้านด้วยของตกแต่งที่มีลักษณะมันวาว หรือหากจำเป็นจริง ๆ ก็ควรจะประดับไว้ในที่สูง พร้อมกับจัดเก็บและทำความสะอาดบ้านให้เรียบร้อย ก่อนที่สัตว์เลี้ยงจะคาบสิ่งของเหล่านั้นไปเล่น และหากมีการกลืนกินเข้าไป อาจทำให้ระบบย่อยอาหารของสัตว์เลี้ยงมีปัญหาได้


 
3. ไม่ควรให้สัตว์เลี้ยงรับประทานช็อกโกแลต

           เนื่องจากช็อกโกแลตประกอบด้วยสารธีโอโบรมีน (Theobromine) ซึ่งเป็นสารที่เป็นอันตรายกับสุนัขและแมวเป็นอย่างมาก ดังนั้นเจ้าของจึงควรหลีกเลี่ยงการให้ช็อกโกแลตกับสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะดาร์กช็อกโกแลต เนื่องจากจะทำให้อาการป่วยรุนแรงยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเต้นของหัวใจที่เร็วผิดปกติ อาการอาเจียน ท้องเสีย หรืออาจเลยเถิดไปถึงขั้นช็อกหมดสติ เป็นต้น

4. กำจัดของหวานออกจากบริเวณที่สัตว์เลี้ยงอาศัยอยู่

          ของหวานที่กล่าวถึงนี้ไม่ได้หมายถึง ลูกอม หมากฝรั่ง เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงของหวานประเภทขนมปังต่าง ๆ อย่างเช่น เค้ก คุกกี้ บราวนี่ ฯลฯ อีกด้วย เพราะของหวานเหล่านี้จะทำให้สัตว์เลี้ยงมีอาการตับวาย และอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต

5. หลีกเลี่ยงพืชที่เป็นอันตรายกับสัตว์เลี้ยง

          ในกรณีที่คุณต้องการนำพืชมาปลูกหรือตกแต่งบ้านในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ควรจะศึกษาให้ดีก่อนว่า มีพืชชนิดใดที่เป็นอันตรายกับสัตว์เลี้ยงของคุณบ้าง โดยเฉพาะต้นไม้ดอกไม้ที่คุณจะนำมาจัดช่อสำหรับทำเซนเตอร์พีชตกแต่งราวบันได และประดับหน้าประตูบ้าน เป็นต้น


 
          หลายต่อหลายครั้งที่สัตวแพทย์บอกว่า พวกเขาได้รับโทรศัพท์แจ้งเหตุฉุกเฉินในระหว่างวันหยุด เพราะเจ้าของสัตว์เลี้ยงไม่มีการเตรียมการล่วงหน้าที่ดีพอหรือขาดความระมัดระวัง ดังนั้นคงจะดีกว่านี้ หากเจ้าของสัตว์เลี้ยงมีการป้องกันและเตรียมพร้อมเอาไว้ล่วงหน้า เพื่อที่คุณจะได้พักผ่อนและใช้เวลาร่วมกับสัตว์เลี้ยงได้อย่างเต็มที่

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Thursday, January 9, 2014

ทำอย่างไรเมื่อสุนัขดุ





คำถามเช่นนี้น่าจะถูกใจกับหลายๆท่าน เพราะนำมาจากคำถามที่ท่านเจ้าของสุนัขมักถามไถ่อยู่เสมอ ซึ่งแต่ละคนต่างก็มีแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาสุนัขดุแตกต่างกันไป ฉะนั้นเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา
หรือเผชิญปัญหาสุนัขดุอย่างเบื้องต้น จึงขอให้ข้อคิดในการดำเนินการดังต่อไปนี้

1. อย่าลงไม้ลงมือ การใช้กำลังไม่ช่วยให้สุนัขหายดุได้ กลับจะยิ่งทำให้สุนัขตัวนั้นดุขึ้น

2. ลองพินิจพิเคราะห์หาสาเหตุของความดุ ท่านจงนั่งคิดไตร่ตรองถึงสาเหตุอันทำให้สุนัขของท่านดุร้ายขึ้น เช่น การถูกทารุณกรรม เด็กแหย่ หรือดุเพราะความหึงหวงตัวเมีย หึงเจ้าของ ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการแก้ปัญหา

3. อย่าผลักไสหรือไม่สุงสิง การที่สุนัขยิ่งดุแล้วเจ้าของหรือคนในบ้านยิ่งหนีห่าง แบ่งแยก กักกัน สุนัขจะยิ่งคิดว่า คนในบ้านเป็นคนแปลกหน้ามากขึ้น ความสัมพันธ์ยำเกรงย่อมลดลงไป เจอหน้าครั้งใดเป็นได้เรื่องแน่ ฉะนั้นถ้าสุนัขของท่านเริ่มดุ ท่านยิ่งต้องเข้าหา (แต่ด้วยความระมัดระวังนะครับ)


4. อย่าผลักความรับผิดชอบไปให้ผู้อื่น ส่วนมากพบว่าผู้ที่มีปัญหาสุนัขดุ มักตัดช่องน้อยเอาตัวรอด คือ เอาไปปล่อยวัดหรือที่ที่ห่างไกลจากบ้าน พระสงฆ์องค์เจ้า ชาวบ้านเขาจะเดือดร้อนจากสุนัขที่ท่านนำไปปล่อยนะครับ

5. ปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อหาทางแก้ไข การรักษาสุนัขดุในทางการสัตวแพทย์แล้ว สามารถกระทำได้ด้วยวิธีต่างๆ เช่น การทำหมัน เพื่อลดฮอร์โมนเพศโดยเฉพาะเพศผู้ อันเป็นเหตุหนึ่งที่สร้างความก้าวร้าวของสุนัข หรือการให้ฮอร์โมนเพศเมีย สุนัขก็อาจลดความดุลงได้ การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม เพื่อลดสิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้นที่ทำให้สุนัขแสดงอาการดุร้าย


เมื่อพยายามทุกวิถีทางแล้วไม่เป็นผล สภาพการณ์ดูจะรุนแรงและเป็นอันตรายต่อผู้คนมากขึ้น ทางออกสุดท้ายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้คือ การทำเมตตาฆาต ด้วยวิธีที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิชาและมนุษยธรรม ฉะนั้นทางที่ดีก่อนเลี้ยงสุนัข ควรศึกษาถึงวิธีเลือกและวิธีเลี้ยงเพื่อไม่ให้ต้องเกิดเหตุมิพึงปรารถนาตามมาภายหลัง...

ที่มา...นิตยสารสัตว์เลี้ยง“, http://pipekemon.tripod.com
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Wednesday, January 8, 2014

เมื่อน้องหมาเป็นโรคพยาธิเม็ดเลือด




         เชื่อว่าในหมู่คนเลี้ยงน้องหมาคงเคยได้ยินเรื่องโรคพยาธิเม็ดเลือดมาพอสมควร พยาธิเม็ดเลือดจัดเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ซึ่งในสุนัขมีทั้งหมด 3 ชนิด โดยแต่ละชนิดจะอาศัยอยู่ในเม็ดเลือดแตกต่างกันไป แต่วันนี้จะขอกล่าวถึงพยาธิเม็ดเลือดที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย ซึ่งนั่นคือ ชนิด Ehrlichia canis หรือเรียกกันย่อๆ ว่า E. Canis พยาธิเม็ดเลือดชนิดนี้พบได้ในสุนัขทุกเพศ ทุกพันธุ์ ทุกอายุ โดยมีพาหะนำโรคคือ เห็บ นั่นเอง

          ทั้งนี้ หลายท่านก็แอบสงสัยว่าน้องหมาของตัวเองไม่มีเห็บเลย แต่ทำไมถึงเป็นโรคนี้ได้ อาจเพราะมีจำนวนไม่มากพอ เราจึงไม่เห็นมากกว่า หรืออาจจะเป็นช่วงที่เห็บลงจากตัวน้องหมาไปลอกคราบ หรือลงไปวางไข่พอดี ทำให้เราไม่เจอเห็บบนตัวสุนัขก็เป็นได้ และการเป็นโรคพยาธิในเม็ดเลือดนั้น ไม่จำเป็นต้องมีเห็บเยอะหรือหลายๆ ตัว แม้มีแค่ตัวเดียว แต่ถ้าตัวที่กัดมีพยาธิเม็ดเลือดอยู่ ก็สามารถเป็นโรคได้แล้ว

          เมื่อเห็บดูดเลือดจากสุนัขที่มีเชื้อ E. Canis เข้าไป เชื้อจะเข้ามาอยู่ในตัวเห็บ จากนั้นถูกปล่อยออกไปกับน้ำลายของเห็บขณะที่กินเลือดสุนัขอีกตัว เมื่อเข้าร่างกายสุนัขแล้ว พยาธิจะอาศัยอยู่ในเม็ดเลือดขาวชนิดโมโนไซต์ และลิมโฟไซต์ และมีระยะฟักตัว 8-20 วัน ก่อนจะปรากฎอาการ

 
อาการ

          สำหรับอาการที่พบทั่วไปมี 2 ระยะ คือ แบบเฉียบพลัน (1-4 สัปดาห์) สุนัขจะมีไข้ขึ้นๆ ลงๆ ซึม เบื่ออาหาร ต่อมน้ำเหลืองโต ม้ามโต บางตัวพบว่าเลือดกำเดาไหลข้างเดียว จุดเลือดออกตามตัว จากนั้นสุนัขที่มีภูมิคุ้มกันดีจะสามารถพัฒนาภูมิคุ้มกันมาทำลายเชื้อได้

          แต่ถ้าภูมิคุ้มกันไม่ดีพอ เชื้อพยาธิเม็ดเลือดจะพัฒนาเข้าสู่อาการในแบบเรื้อรัง (40-120 วัน) ซึ่งจะมีอาการตั้งแต่ ซึม อ่อนแรง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เยื่อเมือกซีด มีไข้สูง เลือดกำเดาไหลมาก ปัสสาวะเป็นเลือด หายใจลำบาก จนถึงไขกระดูกทำงานบกพร่อง ภูมิคุ้มกันทำลายกันเอง ทำให้โลหิตจาง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำ ไตวาย ตับอักเสบ ข้ออักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และนำไปสู่การเสียชีวิตได้

การรักษาและวิธีการป้องกัน

          วิธีการรักษาส่วนใหญ่ คือ การให้ยาฆ่าพยาธิเม็ดเลือดและการรักษาตามอาการ โดยจะต้องรักษาต่อเนื่อง อย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ ร่วมกับตรวจเลือดเพื่อประเมิณค่าเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดเป็นระยะ และต้องติดตามผลต่ออีก 6 เดือน ถึง 1 ปี

 
          การป้องกันพยาธิเม็ดเลือดนั้นจะต้องอาศัยการเอาใจใส่ดูแลจากเจ้าของ โดยการป้องกันการติดเห็บ ปัจจุบันมีหลายวิธีและหลายผลิตภัณฑ์มาให้เลือกตามความเหมาะสม เช่น ตามลักษณะพื้นที่อยู่อาศัยและลักษณะการเลี้ยง เป็นต้น นอกจากนี้ควรตรวจเลือดน้องหมาอย่างน้อยปีละครั้งด้วยค่ะ

แหล่งที่มา  http://pet.kapook.com, โลกสัตว์เลี้ยง
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต