Saturday, April 19, 2014

สุนัขพันธุ์ไหน เสี่ยงเนื้องอกในสมอง



ก้อนเนื้อในสมอง (Brain Tumor)

          เมื่อกล่าวถึงเรื่องเนื้องอกในสมอง หลายๆ ท่านก็คงจะเคยได้ยินกันมาบ้าง ซึ่งเนื้องอกในสมองมักจะพบในสุนัขอายุมาก แต่ก็อาจพบในสุนัขเด็กได้เช่นกัน ส่วนใหญ่เมื่อเป็นเนื้องอกในสมองมักจะไม่หายขาด ถึงแม้ว่าจะได้รับการผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออกแล้วก็ตาม อาจลุกลามเกิดเป็นก้อนใหญ่ขึ้น หรืออาจทำให้อาการแย่ลงก็ได้ค่ะ

สายพันธุ์กับชนิดเนื้องอก

          สุนัขแต่ละสายพันธุ์มีแนวโน้มการเป็นเนื้องอกแต่ละชนิดต่างกันค่ะ สุนัขพันธุ์ บูลด็อก(Bulldog) และ บอสตัน เทอร์เรีย (Boston Terrier) มักจะพบว่าเป็นเนื้องอกจากต่อมใต้สมองได้มาก 


             ส่วนสุนัขพันธุ์จมูกยาว เช่น โด เบอร์แมน พินเชอร์(Doberman pinscher) สก็อตติช เทอร์เรีย (Scottish terrier) และโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ (golden retriever) มักจะพบเนื้องอกที่มาจากเยื่อหุ้มสมองได้มาก

 
อาการของสุนัขที่มีเนื้องอกในสมอง

          สุนัขส่วนใหญ่ที่เป็นมักไม่ค่อยแสดงอาการในช่วงแรก แต่เมื่อก้อนเนื้องอกโตขึ้นจนร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ สุนัขก็จะเริ่มแสดงอาการออกมาให้เห็น อาการมักขึ้นกับว่า มีก้อนเนื้องอกที่ส่วนไหนของสมอง อาการโดยทั่วไป ได้แก่ พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เดินทรงตัวไม่ได้ เดินเป็นวงกลม ตาบอด หรืออาจมีอาการชัก

 
การวินิจฉัย

          การวินิจฉัยที่แน่นอนสามารถทำได้โดย CT scan (Computer Tomography scan) หรือ MRI (Magnetic Resonance Imaging) ทั้งสองวิธีนี้สามารถบอกตำแหน่งของเนื้องอกในสมองได้แน่นอน และอาจเป็นข้อมูลที่ช่วยในการวินิจฉัยชนิดของเนื้องอกได้คร่าวๆ อีกด้วย

          ทั้งนี้ การตรวจทั้งสองวิธีนี้ต้องทำการวางยาสลบเพื่อให้สนุัขอยู่นิ่งที่สุดขณะที่ทำการตรวจวินิจฉัย เพราะการเคลื่อนไหวแม้เพียงนิดเดียวอาจจะทำให้การวินิจฉัยผิดพลาดได้ อย่างไรก็ตาม จุดด้อยของการตรวจทั้งสองวิธีนี้ก็คือ ค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ปกติแล้วค่าใช้จ่ายในการตรวจ CT scan  มักจะสูงกว่าการตรวจ X-ray ประมาณ 10-20 เท่า ส่วน MRI จะสูงกว่าประมาณ 20-50 เท่า เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการ maintenance เครื่องจะสูงกว่าเครื่อง X-Ray ธรรมดามาก การทำการตรวจโดยสองวิธีนี้จึงยังไม่ได้รับความนิยมมากนักในเมืองไทย

 
การรักษาเนื้องอกในสมอง

          การรักษาสามารถทำได้โดยการควบคุมการบวมของสมองและควบคุมอาการชัก ซึ่งมักพบได้บ่อย นอกจากนั้นแล้วยังอาจทำการรักษาโดยการฉายรังสีเพื่อรักษา หรือการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก การผ่าตัดมักทำได้ค่อนข้างยากและขึ้นกับตำแหน่งของเนื้องอกนั้นๆ ด้วย

          อย่างไรก็ดี การรักษาโดยการผ่าตัดที่อเมริกาพบว่า อาจจะมีการกลับมาเป็นใหม่ได้ บางรายอาจจะในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 3-4 สัปดาห์ ก็กลับมาเป็นใหม่และอาการแย่กว่าก่อนรับการผ่าตัด เนื่องจากเนื้องอกมีการขยายขนาดขึ้น ส่วนใหญ่แล้วเจ้าของที่ไม่สามารถรับสภาพของสุนัขเนื่องจากอาการที่แสดงออก เช่น ชัก หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ก็มักจะขอให้สัตวแพทย์ฉีดยาเพื่อให้เขาหลับไป


โดย สพ.ญ.ชนกชนม์ เพชรศรีช่วง
แหล่งที่มา  dogazine, http://pet.kapook.com/view3670.html
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment