Friday, August 16, 2013

โรคอ้วนในสุนัข



ใน ปัจจุบันผู้เลี้ยงสุนัขและแมวมักนิยมที่จะเลี้ยงสัตว์ของตัวเองด้วยอาหาร สำเร็จรูป เพราะมีความสะดวก น่ากินอีกทั้งยังมีสารอาหารจำเป็นครบถ้วน แต่การเลือกชนิดของอาหารสำเร็จรูปผิดสูตร ผิดเวลาและผิดขนาดอาจส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตในสัตว์เลี้ยง ถ้าท่านไม่มีความรู้และความเอาใจใส่ในเรื่องนี้อย่างถูกต้อง 
 
โรคอ้วน เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่พบบ่อยในสุนัขและแมว โดยเฉพาะในขณะช่วงอายุกลางวัยจะพบมากกว่าในช่วงเด็กหรือช่วงแก่ 

ความอ้วนคืออะไรและเกิดจากอะไร
ความอ้วนคือภาวะที่ร่างกายมีการสะสมของไขมันที่เนื้อเยื่อไขมันมากเกินไป ทำให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากกว่าน้ำหนักปกติ 15-20%

นอกจากนี้ความอ้วนทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคกระดูกและข้อต่างๆ เป็นต้น 

ปัญหาพื้นฐานของความอ้วน มี 2 แบบ คือ 

๑ การเพิ่มขนาดเซลไขมันในร่างกาย ( Hypertropic Obesity )
๒ การเพิ่มทั้งขนาดเซลและจำนวนของเซลไขมันในร่างกาย ( Hyperplastic Obesity) 

ความอ้วนในสัตว์ที่เกิดจากสาเหตุ Hyperplastic Obesity จะเป็นการยากที่จะแก้ไขและมักเป็นปัญหาในระยะยาวต่อไป ดังนั้นในสัตว์ที่ได้รับอาหารมากเกินไป จะมีผลเพิ่มขนาดของเซลไขมันแต่จะไม่เพิ่มจำนวนเซล ดังนั้นการแก้ไขสูตรอาหารที่ให้กินจึงสามารถปรับลดน้ำหนักตัวได้ 


ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อ้วน 

๑ ปัจจัยภายในร่างกาย ได้แก่อายุ เพศ ภาวะของระบบสืบพันธุ์ ความมีอยู่หรือความผิดปกติของระดับฮอร์โมนในร่างกาย หรือความผิดปกติของต่อมใต้สมอง หรือภาวะทางพันธุกรรม

๒ ปัจจัยภายนอก ได้แก่ อิทธิพลในการกินอาหาร ส่วนประกอบของอาหารที่กินอยู่ อาหารที่กินอยู่มีความน่าจะกินสูง กิจวัตรประจำวันของสัตว์ตัวนั้น
 
ส่วนมากแล้วปัจจัยที่ทำให้เกิดความอ้วน คือ การที่เจ้าของให้สัตว์กินอาหารมากเกินไป การขาดการออกกำลังกาย หรือทั้งสองอย่าง

ในส่วนของปัจจัยที่ทำให้อ้วนจากสาเหตุภายในร่างกาย เช่น

•  การลดลงของการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ( Resting Metabolic Rate, RMR)
•  ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อทำให้เกิดภาวะของ Hypothyroidism หรือ Hyperadrenocorticism
•  ผลมาจากการทำหมัน โดยเฉพาะการทำหมันในช่วงอายุน้อย ระหว่างอายุ 6-12 เดือน
•  ความแก่ สุนัขที่อายุเกิน 7 ปีขึ้นไป จะลดการใช้พลังงานอย่างน้อย 20% จากในวัยเด็ก ดังนั้นถ้าเรายังคงให้กินสูตรอาหารเช่นเดิม สุนัขจะมีไขมันสะสมมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาความอ้วนตามมา
•  สาเหตุทางพันธุกรรม ในสุนัขบางพันธุ์ เช่น คอกเกอร์ ลาบาดอร์ เทอร์เรีย มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนเมื่ออายุมากขึ้น ในขณะที่พันธุ์บอกเซอร์ ฟอก เทอร์เรีย ยอร์กเชีย เทอร์เรีย มีโอกาสน้อยที่จะอ้วน เป็นต้น

การวินิจฉัย
•  มีความจำเป็นที่จะต้องนำไปให้สัตวแพทย์ตรวจว่าสัตว์ของท่านอ้วนจริงๆ ไม่ใช่การเกิดภาวะบวมน้ำ หรือภาวะความผิดปกติของต่อมไร้ท่อต่างๆ โดยอาศัยผลการตรวจเลือดหรือการเอกเรย์ประกอบในการวินิจฉัย
•  พิจารณาจาก Assessment of body condition เช่น Thin, underweight, Ideal, Overweight , Obese

ภาวะ Obese คือ ภาวะที่ไม่สามารถคลำพบกระดูกซี่โครงที่ปกคลุมไปด้วยกล้ามเนื้อและไขมันใน บริเวณนั้น ไขมันที่สะสมสามารถเห็นได้ในบริเวณส่วนบั้นเอวหรือบริเวณโคนหาง ไม่สามารถเห็นส่วนโค้งในบริเวณเอว บริเวณหน้าท้องมักจะกางออกหรือขยายใหญ่ 



การแก้ไข
ในระยะสั้นคือการลดปริมาณไขมันในร่างกาย โดยการจำกัดปริมาณอาหารที่กินเข้าไป และการทำให้เกิดพลังงานในร่างกายให้เกิดการเผาผลาญมากขึ้น ส่วนในระยะยาวคือการควบคุมไม่ให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

ส่วนประกอบสำคัญในการควบคุมน้ำหนักตัว
•  การควบคุมพฤติกรรมทั้งผู้เลี้ยงและตัวสัตว์ ( behavior modification ) เช่น การควบคุมพฤติกรรมการกินอาหารในสัตว์ และโดยเจ้าของสัตว์โดยการลดจำนวนมื้ออาหาร และการลดปริมาณอาหารจากที่กินอยู่เดิม เป็นต้น
•  การควบคุมอาหาร ( Dietary modification ) เช่น การเลือกใช้อาหารในสูตรลดน้ำหนัก ( low- fat diets)  
•  การออกกำลังกาย ( Exercise ) เช่น การว่ายน้ำ การจูงเดิน การปล่อยวิ่ง
 
สรุปการจัดการเมื่อพบว่าสัตว์เลี้ยงอ้วนเกินไป 
 
•  จัดโปรแกรมการควบคุมน้ำหนัก โดยกำหนดให้ในหนึ่งสัปดาห์ควรมีน้ำหนักที่ลดลงประมาณ 1-2% จากปกติ
•  เลือกชนิดของอาหารเหมาะสมที่จะใช้ในสูตรลดน้ำหนัก
•  ควบคุมการได้รับแคลอรี่ในร่างกาย ไม่เกิน 60-70% ของอัตราการเผาผลาญในร่างกายในระดับน้ำหนักตัวปัจจุบัน
•  งดขนมขบเคี้ยว เปลี่ยนปริมาณการให้อาหารมากเกินไปที่ทำให้อ้วน
•  เพิ่มโปรแกรมการออกกำลังกายในแต่ละวัน
•  หลังจากน้ำหนักตัวในร่างกายลดลง ให้ควบคุมน้ำหนักตัวต่อไปเพื่อไม่ให้เพิ่มขึ้นใหม่
•  ป้องกันการจะมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นใหม่ โดยให้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และควบคุมปริมาณ แคลอรี่อย่างเข้มงวด
  
 
ร . ต . อ . สพ . ญ . อารยา ผลสุวรรณ์ *
http://vth.kps.ku.ac.th/pet_html/2.htm

No comments:

Post a Comment