Friday, March 21, 2014

ล้วงลับ เรื่องราวรัก ๆ ชีวิตสัตว์โลก...ที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน



ใครว่ามนุษย์ที่จะมีความรักได้เท่านั้น ไม่ว่าสัตว์หรือคนก็มีหัวใจ แต่รักนี้จะแสนหวาน หรือซ่อนเร้นแอบแฝงขนาดไหน มาส่องพฤติกรรมจับคู่ของบรรดาสัตว์ทั้งหลายกัน

พฤติกรรมการจับคู่ของสัตว์โลก แบ่งได้เป็น 4 ประเภทหลัก ๆ คือ

1. รักเดียวใจเดียว

สัตว์ที่รักเดียวใจเดียว เราเกิดมาเพื่อเป็นของกันและกัน สัตว์ที่มีการจับคู่ผสมพันธุ์แค่ตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ผัวเดียวเมียเดียว อาทิ เป็ดแมนดาริน (Mandarin Duck) เป็นสัญลักษณ์แทนความรักและความซื่อสัตย์ระหว่างหญิงและชาย หงส์ขาว (Swan) เป็นสัญลักษณ์ของความรักและความงามต่าง ๆ เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีคู่เดียวไปตลอดชีวิต  กุ้งการ์ตูน (Harlequin shrimp) ได้รับฉายาว่าเป็น "คู่รักแห่งอันดามัน" ม้าน้ำ (Seahorse) จิ้งจอกแดง (Red Fox),  จิ้งจอกสีเงิน (Silver Fox), นกกระตั๊ว กาลาห์ (GalahCokkatoo), นกทูแคน (Toucan), ปลาการ์ตูน  (Premnasbiaculeatus ,Clownfish), ปลาตีน (Mudskipper) ปลาอมไข่คาดินอล (Banggai Cardinal Fish), ปลาหมึกสาย (Octopus), เป็ดวู้ดดั๊ก (Wood Duck), เป็ดเปีย (Tufted Duck) เป็ดบาฮาม่า (Bahama Pintail Duck) ฯลฯ  


2. ชายหลายกิ๊ก

สัตว์ตัวผู้ที่จะผสมพันธุ์กับตัวเมียมากกว่า 1 ตัว (Harem) หากตัวผู้อื่นต้องการครอบครองตัวเมียของตน ก็ต้องมีการต่อสู้กันเพื่อแย่งชิง ซึ่งในงานนี้จะได้พบกับ จาค็อป (Jacob , 4 horn sheep) หรือแกะ 4 เขา,  แพะแองโกร่า (Angora goat) ม้าแคระ (ShetlandHorsev), ตุ๊กแกสีสด (Day gecko) เม่นทะเล (Sea urchin), ปลิงทะเล (Sea cucumber), จิ้งเหลนหางลิง (Monkey tail skink), วอลล่าบี (Wallaby) จระเข้, (Crocodile) พิราบหงอน (Victoria Crowned Pigeon), เม่นแอฟฟริกา (Hystrix Africaeaustralis), ปลาไหลลายจุด (Spotted Garden Eel, Heteroconger) ฯลฯ

 
3. หญิงหลายใจ

  สัตว์ตัวเมียที่จะผสมพันธุ์กับตัวผู้มากกว่า 1 ตัว ซึ่งตัวเมียจะปล่อยสาร Pheromore เพื่อดึงดูดตัวผู้เข้ามาผสมพันธุ์ บางครั้งการผสมพันธุ์เสร็จสิ้นแล้วจะทิ้งให้ตัวผู้เลี้ยงลูก อาทิ นกแคสโซแวรี  (Cassowary Bird) แมงดาทะเล (Horseshoe crab) นกคุ่ม (Turnicidae) ผึ้งหลวง (Giant honey bee) กระท่าง (Himalayan newt), บึ้ง (Tarantula) ฯลฯ 

 
4. มากคู่ชู้ชื่น

สัตว์ที่มาผสมพันธุ์กัน แล้วแยกจากกันไป ไม่ได้อยู่กินกันเป็นครอบครัว การจับคู่แบบนี้ทำให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ๆ เป็นการผสมข้ามสายพันธุ์ อาทิ กิ้งก่าสไปเดอร์แมน Spiderman lizard (Mwanza flat-headed rock agama lizard) เป็ดมาลลาร์ด (Mallard) กบฮอร์นฟรอก (Horned frog), เต่าเรดฟุต(Red Foot Tortoise) ปลาดาว (Starfish), ปลาสิงโต (Lionfish) ละสุนัขสายพันธุ์ต่าง ๆ ฯลฯ 


แหล่งที่มา  http://pet.kapook.com/view84771.html
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Sunday, March 16, 2014

โรคหัวใจในเจ้าตูบ




        หลายๆ ครั้งที่ท่านเจ้าของหมาทำหน้าฉงนเมื่อได้รับฟังคำวินิจฉัยจากสัตวแพทย์ว่าหมาอันเป็นที่รักของท่านหรือเธอเจ็บป่วยด้วย "โรคหัวใจ" ราวกับไม่เชื่อหูตัวเองว่าหมาจะเป็นโรคหัวใจได้อย่างคนยังไง? บ้างก็ว่าหมาส่งไปเลย

         จริงๆ แล้ว โรคหัวใจสามารถเกิดขึ้นกับหมาได้เช่นเดียวกับมนุษย์เรานั่นแหละครับ มิหนำซ้ำยังต้องใช้ทั้งเทคนิคการตรวจที่เหมือนกัน เช่น ฟังการเต้น วัดคลื่นหัวใจ (ECG) วัดความดัน ถ่ายเอ็กซเรย์ แม้กระทั่งตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวน์ดก็ตามที แค่นี้ไม่พอครับยังใช้ยารักษาโรคหัวใจเหมือนกับคนซะอีกด้วย จะขาดอยู่ในขณะนี้ก็เพียงการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจอย่างมนุษย์เราเท่านั้นเอง

          โรคหัวใจในหมาแบ่งเป็น 2 ประเภทตามสาเหตุของการเกิด คือ 

           ประเภทแรก  เป็นโรคหัวใจที่เป็นมาแต่กำเนิด  ตัวอย่างของโรคหัวใจที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด ได้แก่ ผนังกั้นห้องหัวใจเป็นรู การค้างของหลอดเลือดแดง ฯลฯ

          ประเภทที่สอง เป็นโรคหัวใจที่เกิดขึ้นในภายหลัง สำหรับโรคหัวใจที่เกิดขึ้นในภายหลังมีตัวอย่าง คือ ลิ้นหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจโต ฯลฯ


           เยอะแยะมากมายเช่นเดียวกับคนเราดังที่บอกไว้ไหมครับ เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ท่านเจ้าของหมาคงจะเริ่มปริวิตกกันแล้วว่าเจ้าตูบของท่านจะเป็นโรคหัวใจไหมหนอ? เขาจะอยู่กับเรานานไหมนี่? จะทำอย่างไรต่อไปดี? ฯลฯ 

           เอาละครับอย่าวิตกจริตเกินควร ลองมาดูว่าอาการเริ่มแรกหรือข้อสังเกตที่เราพอจะตั้งข้อสงสัยว่าหมาตัวนั้นๆ น่าจะมีปัญหาของหัวใจกันดีกว่า เพื่อท่านเจ้าของจะได้พาไปพบสัตวแพทย์ต่อไป
ปัจจัยโน้มนำให้เกิดโรคหัวใจในหมาได้แก่ อายุ หมาอายุมาก หมาชรา ย่อมมีโอกาสเรื่องเป็นโรคหัวใจสูงเช่นเดียวกับหมาอ้วนมากๆ พันธุ์หมา อัตราการออกกำลังกายหรือใช้งานที่หักโหม ปัญหาความเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อต่างๆ อย่างรุนแรง โดยเฉพาะโรคติดเชื้อแบคทีเรีย พันธุกรรม ฯลฯ


            อาการเบื้องต้นของโรคหัวใจในหมา มีดังนี้

            เหนื่อยง่ายกว่าที่ควรหรือที่เคย เช่น เดินขึ้นบันได วิ่งเล่นไม่กี่นาทีก็หอบมาก เหงือกซีดเขียวรวดเร็ว มีการไอ หายใจลำบาก ท้องบวมโตขึ้น หรือเรียกว่าท้องมาน เกิดลักษณะบวมน้ำที่ตีนและขาหลัง บางครั้งอาจเกิดขึ้นใต้ผิวหนังทั่วไป หากคลำชีพจรดูจะพบว่ามีการเต้นเร็วมากแต่มักแผ่วเบาหรือบางรายก็เต้นแรงมากเกินปกติ ที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นอาการส่อเค้าแห่งโรคหัวใจ ฉะนั้นท่านพึงพาเจ้าตูบไปพบสัตวแพทย์ได้เลย

              การรักษาโรคหัวใจในหมา

              สามารถกระทำได้ไม่ว่าจะเป็นการใช้หยูกยา หรือการผ่าตัด แต่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้การรักษาด้วยยา สิ่งที่เจ้าของต้องช่วยก็คือ ให้ยาอย่างสม่ำเสมอ พาหมาไปพบหมอตามนัด ควบคุมให้เขาออกกำลังแต่พอควร ควบคุมการกินน้ำและอาหารคุมน้ำหนักตัว

              ด้วยการปฏิบัติเช่นนี้ผมเชื่อว่าแม้โรคหัวใจจะไม่หายไปจนสมบูรณ์ก็จริง แต่หมาของท่านก็จะมีความสุข ขึ้นกว่าเดิมและอยู่กับท่านไปได้นานเท่านาน


ผศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร
http://tvma.tripod.com/pet/b_dheart.html
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Tuesday, March 4, 2014

นักวิทย์ฯ ชาวฮังการี เผย สุนัขรับรู้เสียงต่าง ๆ ได้เหมือนคน



       นักวิทย์ฯ ชาวฮังการี เผย สุนัขมีการรับรู้เสียงต่าง ๆ เหมือนกับคน หลังเปรียบเทียบภาพการทำงานสมองที่ได้จากเครื่อง MRI

        เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557  เว็บไซต์สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษ รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ชาวฮังการีมีการนำเครื่อง MRI หรือเครื่องสร้างภาพด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า มาใช้สแกนสมองของกลุ่มอาสาสมัครจำนวน 22 คน และสุนัขอีก 11 ตัว พร้อมกับนำภาพของทั้ง 2 กลุ่มมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งภาพดังกล่าวทำให้พวกเขาพบว่า สมองของสุนัขมีระบบการตอบสนองต่อเสียงต่าง ๆ ไม่ต่างจากคน 

 
       ทั้งนี้ข้อสรุปดังกล่าวมาจากการที่นักวิทยาศาสตร์ได้ให้กลุ่มอาสาสมัครกับ สุนัข ทดลองฟังเสียงที่แตกต่างกันจำนวน 200 รูปแบบ โดยมีทั้งเสียงทั่วไป อาทิ เสียงรถยนต์ เสียงผิวปาก เสียงคน รวมไปถึงเสียงสุนัข ซึ่งหลังจากที่ฟังเสียงแล้ว ภาพจากเครื่องสแกนก็แสดงให้เห็นถึงการทำงานของสมองในส่วนที่ใกล้เคียงกัน ทั้งสุนัขและคน นอกจากยังเผยว่า สุนัขสามารถรับรู้ถึงความรู้สึกของคนได้ด้วย

        ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมสุนัขจึงเข้าใจคำพูดของคน และบางครั้งก็ยังสามารถรับรู้ถึงความรู้สึกของคนได้ดีอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นงานวิจัยที่มีการค้นพบในสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในสัตว์กลุ่มไพรเมตหรือสัตว์ในตระกูลลิงอีกด้วย

  
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต