Saturday, October 26, 2013

ทำอย่างไรเมื่อถูก..หมากัด ?





คำถามนี้บางคนอาจจะตอบได้บางคนก็อาจไม่รู้เลย... จากประสบการณ์ที่ผ่านมา มีคำถามอยู่ไม่กี่คำถามที่ผู้ป่วยมักจะถามเมื่อถูกหมากัด เช่น 

      * หมาฉีดวัคซีนอยู่แล้ว..ยังต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอยู่อีกเหรอ  

      * ทำไมหมากัดแล้วต้องฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักด้วยละหมอ..เกี่ยวกันด้วยเหรอ.. ไม่ได้โดนตะปูตำซะหน่อย  

       * ทำไมค่ารักษามันแพงจัง...แผลนิดเดียวเอง 

เอาเป็นว่าผมจะเล่าให้ฟังเลยแล้วกันครับ..ว่าทำไม มันถึงเป็นเช่นนั้น

ทำไมหมาถึงกันคน
ตามปกติแล้วหมามักจะไม่กัดคนหรอกครับ ยกเว้น มันบ้า (ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า) หรือมันไม่คุ้นเคยกับคนคนนั้น สาเหตุหลังไม่สำคัญครับ...แต่สาเหตุแรกนี่ซิ...อันตราย

ถ้าถูกหมากัดต้องทำอย่างไรบ้าง
 
ทำดังนี้ครับ 

ล้างแผลให้สะอาด ให้ล้างอย่างนุ่มนวลนุ่มนวลนะครับ โดยใช้น้ำและสบู่
  • หากว่าเลือดออกไม่หยุดหรือออกมาก ให้ใช้ผ้าขนหนูที่สะอาดกดไว้ครับ
  • ต้องไปพบแพทย์ครับ เพราะคุณต้องได้รับ vaccine ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

แพทย์จะทำอะไรบ้าง
ก่อนอื่นต้องล้างแผลใหม่ครับ..เพราะว่าในน้ำลายของเจ้าตูบนั้น มีเชื้อโรคอยู่มากมาย..เรียกได้ว่าสกปรกสุดๆ เลยละครับ
  • แพทย์จะตรวจแผลทุกแผลที่ถูกกัดครับ และพิจารณาว่าต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ เกือบ 90 % ต้องฉีดครับ เพราะข้อบ่งชี้ในการฉีดวัคซีน คือแผลมีเลือดออกต้องฉีดวัคซีน ในกรณีที่ไม่ต้องฉีด ก็เช่นถูกเลียอย่างเดียว แต่ถ้าถูกเลียบริเวณที่เป็นแผลถลอกอยู่ก่อนก็ต้องฉีดอยู่ดีนะครับ
  • แพทย์จะพิจารณาด้วยว่า ต้องฉีด Immounglobulin ( ไม่รู้จะแปลเป็นไทยว่าอะไร) หรือไม่...อันนี้แหละครับ...ราคาแพงมาก ซึ่งเจ้า Immonoglobulin นี้แพทย์จะสั่งให้ใช้ในกรณีที่แผลใหญ่ หรือมีเลือดออกมาก หรือถูกกัดบริเวณ มือ เท้า ใบหน้า หรือปลายอวัยวะครับ
  • หากว่าคุณไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาก่อน หรือฉีดมาแต่ไม่ครบ( 3 เข็ม) แพทย์จะฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักให้กับคุณด้วยครับ
  • แพทย์จะสั่งยาแก้ปวดและยาปฏิชีวนะให้กลับไปรับประทานที่บ้านครับ
  • แพทย์จะนัดมาทำแผลและฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนดครับ
ตอนนี้หลายคนอาจคิดว่า..อะไรกันนี่..หมากัดนิดเดียว..โดนฉีดยาซะอ่วมเลย... 


หมาฉีดวัคซีนอยู่แล้ว..ยังต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอยู่อีกเหรอ
ต้องฉีดครับ หากว่าเพื่อนบางคนไปอ่านเรื่องการรักษาโรค เวลาถูกหมากัดจากเว็บต่างประเทศ อาจจะเจอคำแนะนำว่าไม่ต้องฉีดก็ได้...แต่ ในประเทศไทยต้องฉีดครับ...เพราะว่าบ้านเราเป็นเมืองร้อน หมาบ้าเยอะกว่าเมืองหนาว และตามมาตรฐานการแพทย์ไทยนั้น ต้องฉีดครับ
  • โดยการฉีดนั้นจะฉีดทั้งหมด 5 ครั้ง ในวันที่ 0, 3, 7, 14 และ 28 ครับ ( นับจากวันที่ถูกกัด )
  • หากหมาที่กัดไม่ตายใน 10 วัน ฉีดแค่ 3 เข็มแรกก็พอ

ทำไมหมากัดแล้วต้องฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักด้วยละหมอ..เกี่ยวกันด้วยเหรอ
ต้องฉีดครับ เพราะแผลถูกสุนัขกัดนั้น ถือเป็นแผลที่สกปรกมาก มากกว่าแผลถูกมีดบาดเสียอีก ทางการแพทย์ ถือว่าเป็น Tetanus prone wound หมายความว่าแผลที่อาจทำให้ติดเชื้อบาดทะยักได้ครับ

ทำไมค่ารักษามันแพงจัง...แผลนิดเดียวเอง
หากกว่าแผลของคุณจำเป็นต้องฉีด immuonglobulin แล้วละก็...แพงในพันบาทขึ้นไปแน่นอนครับ ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ต้องเตรียมตัวก่อนมา รพ. ก็คือ...ใครจะเป็นคนจ่ายค่ารักษาพยาบาล เจ้าของหมาหรือคุณเอง

ทำไมหมอไม่เย็บแผลให้
แผลสุนัขกัด ถ้าไม่จำเป็นจะไม่เย็บนะครับ ยกเว้นแผลใหญ่มากๆ ก็จะเย็บแค่หลวมๆ เพราะว่าเชื้อโรคที่อยู่ในน้ำลายสุนัขมันมากและจะเจริญได้ดีกว่าในภาวะที่ขาดออกซิเจน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเปิดแผลเอาไว้ครับ 

ดังนั้นจึงต้องทำแผลทุกวัน และทานยาแก้อักเสบให้ครบด้วยนะครับ

แหล่งที่มา  ihealthyblog.blogspot.com, http://www.teenrama.com/what/f_old_what294.htm
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Monday, October 21, 2013

ทำไมสุนัขชอบเลียฉี่




สาเหตุที่สุนัขกินฉี่ เลียฉี่สุนัขตัวอื่น หรือ ฉี่ตัวเอง มีความเชื่อหลักๆอยู่ 2 ทฎษฎี

ความเชื่อที่ 1 เกี่ยวกับเรื่องอาณาเขต

มักจะเกิดกับสุนัขตัวผู้ ที่จะไปเลียฉี่สุนัขตัวอื่น เพราะตัวผู้จะฉี่บ่งบอกอาณาเขต ถ้ามีฉี่สุนัขตัวอื่นมาอยู่ในอาณาเขตของตัวผู้ที่เป็นเจ้าของ ตัวผู้ตัวนั้นก็จะเลียฉี่ตัวอื่นให้หมดไป เพื่อให้เหลือแต่กลิ่นฉี่ของตน วิธีแก้ มักแนะนำให้สุนัขตัวผู้ทำหมันเพื่อลดพฤติกรรมสร้างอาณาเขต แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะสุนัขตัวผู้บางตัวหลังจากทำหมันแล้ว เจ้าของพบว่าพฤติกรรมกินฉี่ก็ยังคงอยู่

ความเชื่อที่ 2 เลียนแบบพฤติกรรมแม่หมา

เมื่อลูกหมายังเด็ก วัยไม่ถึง 2 เดือน แม่หมาจะเลีย จะกิน อึฉี่ของลูกหมา เพื่อให้รังสะอาด ลูกหมาจะได้สะอาด ไม่สกปรกติดเชื้อจากสิ่งปฎิกูล เมื่อลูกหมาโตขึ้น เราผู้เป็นเจ้าของก็มักจะเก็บอึ เช็ดฉี่ หลังจากสุนัขถ่าย ก็เหมือนกับเรากำลังทำหน้าที่แม่หมาอยู่ ก็คือหน้าที่ทำความสะอาดรัง สุนัขเห็นดังนี้ก็จะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ หรือว่าเขาช่วยเรานั่นเอง เมื่อไหร่ที่มีฉี่ในรัง ในรั้วบ้าน สุนัขก็จะเลียนแบบพฤติกรรมแม่หมา คือ คอยเลียทำความสะอาด หรือ ช่วยเราทำความสะอาดอีกแรง เขามักจะทำต่อหน้าเรา โชว์เราว่าเขาช่วยเรา

ไม่ว่าสาเหตุจะเกิดจากปัจจัยใดๆ ก็ตาม ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์สำหรับการอยู่ร่วมกับมนุษย์ เนื่องจากสุนัขอาจติดเชื้อโรคจากปัสสาวะสุนัขตัวอื่นได้ ทำให้สุนัขป่วย และ ไม่ถูกสุขลักษณะ คือ สุนัขเลียฉี่ แล้วมาเลียมือเรา ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่รับไม่ได้เช่นกัน

สุนัขบางตัวพฤติกรรมจะหายไป หลังจากเขาได้ลองเลียฉี่ดู เมื่อเขารู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร เขาก็จะเลิกกินไปเอง พฤติกรรมก็จะหายไปหลังจากลองชิมครั้งแรก

แต่ สุนัขบางตัวไม่สามารถเลิกพฤติกรรมนี้ได้ จนเกิดเป็นภาวะลุ่มหลง(obsession) ถือว่า เป็นพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ ไม่ถูกสุขลักษณะ ถือเป็นปัญหาพฤติกรรมอย่างหนึ่ง ที่เราก็ต้องแก้ ต้องปรับพฤติกรรม

ถ้าในกรณีตัวผู้เลียฉี่ตัวเมียที่ติดสัด

เป็นพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับการสืบพันธุ์ของสุนัข สุนัขตัวผู้บางครั้งก็จะชิมฉี่ของตัวเมีย เพื่อต้องการรู้ว่า ตัวเมียตัวนั้นอยู่ในช่วงติดสัดหรือยัง ถ้าบ้านไหนเห็นว่า สุนัขตัวผู้เริ่มชิมฉี่ของตัวเมียในบ้าน ก็เป็นสิ่งบ่งบอกว่าตัวเมียตัวนั้นอยู่ในช่วงเป็นสัด

แต่จริงๆแล้ว กลิ่นก็สามารถบ่งบอกได้แล้วว่าสุนัขตัวเมียตัวนั้นอยู่ในช่วงติดสัดหรือไม่ เพราะสุนัขจมูกดีมาก สุนัขส่วนใหญ่จะใช้การดม มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะชิมฉี่ เราถึงพบไม่บ่อย

ต้นเหตุหลักๆ ที่ทำให้พฤติกรรมนี้คงอยู่คือ สุนัขเบื่อ สุนัขไม่มีอะไรทำ สุนัขมักจะหางานทำเอง ซึ่งงานนั้นๆ ที่เขาคิดค้นขึ้นมามักทำให้เราปวดหัว ปวดใจ ไม่ว่าจะเห่าไล่จักรยาน ขุดดิน กินกระดาษทิชชู กินไม้ กินดิน กินหิน กินอึ กินฉี่ และถือเป็นวิธีเรียกร้องความสนใจวิธีหนึ่ง เมื่อไหร่ที่เขาทำ เราก็จะสนใจเขามากเป็นพิเศษ


วิธีแก้ไข

-ระบายพลังงานสุนัข สุนัขต้องได้รับการออกกำลังกายทุกวัน สุนัขต้องมีงานทำโดยที่เราเป็นผู้กำหนด
-ตักเตือนเมื่อสุนัขจะเข้าไปกินฉี่ เมื่อไหร่ที่เห็นเขาจ้องฉี่ เราก็ต้องส่งเสียงเตือน และไล่เขาออกไปจากบริเวณ การเตือน เริ่มจากใช้เสียงเตือน เช่น อ๊ะ ชูว์  ถ้าการใช้เสียงไม่ได้ผล ต้องตามมาด้วยการฉก
ในช่วงแรกของการปรับพฤติกรรม เราต้องเป็นคนพาเขาไปฉี่ เพื่อที่จะตักเตือนได้ทัน

จำไว้ว่า อย่าเปิดโอกาสให้หมาทำผิด เมื่อไหร่หมาแอบทำผิดได้ พฤติกรรมจะไม่มีทางหายถาวร เมื่อไหร่เรามั่นใจว่าพฤติกรรมหายแน่นอน เราถึงค่อยปล่อยวางได้

แหล่งที่มา  http://www.todayza.com/19482/#sthash.rSjG07nx.dpuf
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Sunday, October 20, 2013

5 คำถามยอดฮิต เมื่อคิดให้อาหารน้องหมาแรกเกิด



          เพราะลูกสุนัขที่เพิ่งเกิดใหม่ยังไม่สามารถช่วยเหลือ ตัวเองได้ในเรื่องอาหารการกิน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าของที่ต้องไปเสาะแสวงหาความรู้ กลวิธีในการให้อาหารแก่ลูกสุนัขตัวน้อยว่าควรกินอะไร และนี่คือ 5 คำถามคาใจเกี่ยวกับหลักการกินอาหารของลูกสุนัขที่หลายคนสงสัยใคร่รู้...

1. โภชนาการที่ดีและเหมาะสมสำหรับลูกสุนัข ควรเป็นอย่างไร?

          ตอบ : ในสุนัขแรกเกิดมีความแตกต่างจากสุนัขโตเต็มวัยหลายประการ ได้แก่ อุณหภูมิร่างกายต่ำ การทำงานของอวัยวะยังไม่สมบูรณ์ ภาวะภูมิคุ้มกันที่ยังไม่พัฒนาเต็มที่ ดังนั้น สุนัขควรได้รับอาหารที่ถูกต้องและเพียงพอต่อความต้องการ เพื่อนำไปใช้ในการเจริญเติบโตของกระดูกและกล้ามเนื้อ การขาดอาหารในลูกสุนัขจะทำให้ลูกสุนัขไม่แข็งแรงและอาจจะมีปัญหาสุขภาพตามมาในอนาคต

          หากเป็นสุนัขที่คลอดได้เอง แม่สุนัขมักเลี้ยงลูกเองและไม่ต้องการให้คนเข้าไปยุ่ง ลูกสุนัขจะได้รับการดูแลจากแม่สุนัขอย่างดี ได้ดูดนมน้ำเหลือง (24-48 ชั่วโมงหลังคลอด) จะได้รับภูมิคุ้มกันโรคจากแม่มาด้วย ทำให้มีความทนทานต่อโรคมากกว่าลูกสุนัขกำพร้า โดยลูกสุนัขจะกินนมอย่างเดียวทุก 1-2 ชั่วโมง ระหว่างกินนั้น แม่สุนัขจะเลียลูกน้อยเพื่อกระตุ้นระบบขับถ่ายไปด้วย หลังกินอิ่มลูกสุนัขจะนอนหลับ หากลูกสุนัขร้องและคลานไปมาแสดงว่ากินไม่อิ่ม เจ้าของเองสามารถเข้าไปช่วยจับให้ลูกสุนัขดูดนมแม่ และต้องกันตัวอื่นๆ แยกออกมาก่อน

          สำหรับลูกสุนัขกำพร้า (ไม่มีแม่สุนัขหรือแม่ไม่เลี้ยง) ในช่วง 3-4 สัปดาห์แรก ควรให้กินเฉพาะนมสำหรับสุนัขเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งเจ้าของอาจต้องป้อนนมทุกๆ 2 ชั่วโมง โดยในแต่ละครั้งควรให้ในปริมาณไม่มากหรือน้อยเกินไป (ควรปรึกษาสัตวแพทย์เนื่องจากต้องพิจารณาจากน้ำหนักแ ละอายุ) สิ่งที่ควรระวังจากการป้อนนมนั้น ก็คือการสำลักนม ซึ่งสามารถเกิดได้ง่ายในลูกสุนัขที่ไม่แข็งแรง เนื่องจากการป้อนนมมากหรือเร็วเกินไป นมที่ป้อนอาจจะตกลงไปในหลอดลม ส่วนการกระตุ้นการขับถ่ายควรทำทุกครั้งหลังป้อนนม ซึ่งปกติอุจจาระของลูกสุนัขจะมีลักษณะเป็นก้อน สีเหลืองอมขาว ปัสสาวะควรเป็นสีใสหรือสีเหลืองใส

2. ลูกสุนัขควรกินอาหารอะไร ในปริมาณขนาดไหน และบ่อยเท่าไหร่?

          ตอบ : ลูกสุนัขยังไม่หย่านม สำหรับลูกกำพร้าให้หานมสำหรับสุนัขมาทดแทน ถ้าลูกสุนัขยังไม่แข็งแรงในสัปดาห์แรกอาจจะเสริมด้วย กลูโคส หรือน้ำตับดิบ (Rawliver juice) ครั้งละ 2 - 3 CC หรืออาจจะให้วิตามินเสริม

          ลูกสุนัขหย่านม เริ่มให้อาหารอ่อน บดละเอียด อุดมด้วยแคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินดี ตั้งแต่อายุ 3 สัปดาห์ เป็นต้นไป โดยปกติลูกสุนัขจะหย่านมที่ประมาณ 6 - 7 สัปดาห์ ทั้งนี้ ชนิด ปริมาณ และความถี่ในการให้อาหารขึ้นอยู่กับอายุลูกสุนัข

          ช่วงที่มีการเจริญเติบโต อาหารอ่อนย่อยง่าย อาหารสำเร็จรูปสำหรับลูกสุนัข ที่มีระดับแคลเซียมไม่เกิน 1.8% และฟอสฟอรัสไม่เกิน 1.6%

3. สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายของลูกสุนัขมีอะไรบ้าง

          ตอบ : การเสริมด้วยวิตามิน แร่ธาตุ โปรตีน ในลูกสุนัขที่กำลังเติบโตเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะลูกสุนัขที่กินอาหารสำเร็จรูปเนื่องจากมีสารอาหารที่เหมาะสมอยู่แล้ว

          นอกจากนี้ อย่าเป็นกังวลจนมากเกินไปนักหากลูกสุนัขไม่กินอาหารเลย หรือไม่กินอะไรเลยทั้งวัน เรื่องเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายในตอนแรกๆ เดี๋ยวพอวันรุ่งขึ้นเขาก็เป็นปกติเอง อย่างไรก็ตาม หากเขามีอาการท้องเสีย อาเจียน หรืออาการเซื่องซึมประกอบด้วย ให้คุณรีบพาเขาไปพบสัตวแพทย์เสีย อาการอย่างนี้เป็นสัญญาณของโรคที่ไม่ธรรมดาเลย โดยเฉพาะเมื่อเกิดกับลูกสุนัข

4. สำหรับอาหารสำเร็จรูปอย่างอาหารเม็ด หรืออาหารกระป๋อง มีวิธีการเลือกอย่างไร

          ตอบ : โดยทั่วไปแล้วอาหารเม็ดจะมีปริมาณน้ำและความชื้นน้อย ดังนั้น สุนัขควรมีน้ำตั้งไว้ตลอดเวลา แต่อาหารกระป๋องหรืออาหารเปียกจะมีปริมาณน้ำที่มากกว่า จะมีกลิ่นที่น่ากิน สุนัขจึงชอบกินอาหารเปียกมากกว่า แต่ถ้ากินนานๆ ไปเมื่ออายุมากขึ้นอาจจะมีปัญหาคราบหินปูน เนื่องจากไม่มีการกัดแทะของฟัน

5. อาหารต้องห้ามสำหรับลูกสุนัขที่ควรหลีกเลี่ยง

          ตอบ : มีผู้เลี้ยงบางกลุ่มนิยมให้อาหารสุนัขตามแต่ความต้องการของตัวเอง โดยผู้เลี้ยงเข้าใจผิดว่า สุนัขมีความต้องการ และความสามารถในการกินได้เช่นเดียวกับคน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความคิดที่ผิด อาหารที่คุณให้อาจย้อนกลับมาทำอันตรายถึงชีวิตแก่สุนัขแสนรักของคุณได้ มีอาหารต้องห้าม 3 อย่างของสุนัข ที่ผู้เลี้ยงควรหลีกเลี่ยงไม่นำมาให้สุนัขกิน ได้แก่

          อาหารที่แข็งเกินไป เช่น กระดูกไก่ หากไม่จำเป็นคุณไม่ควรให้กระดูกไก่ ปลา ให้เจ้าสุนัขของคุณกินโดยเด็ดขาด แม้ว่าเจ้าสุนัขของคุณจะชื่นชอบอาหารเหล่านี้เพียงใด เพราะกระดูกไก่ ก้างปลา อาจแตกหักระหว่างที่สุนัขขบเคี้ยว สร้างมุมแหลม และความแหลมนี่เองอาจทิ่มแทงทำอันตรายสุนัขของคุณได้ ผู้เลี้ยงหลายคนให้เหตุผลในการให้อาหารเหล่านี้แก่สุนัขว่า ต้องการให้แคลเซียมแก่สุนัข ซึ่งความจริงแล้วผู้เลี้ยงสามารถให้เม็ดแคลเซียม หรือนมอุ่นๆ แก่สุนัขแทนได้

          หัวหอมและกระเทียม ไม่ควรให้สุนัขรับประทานในปริมาณมาก เพราะหัวหอมและกระเทียมมีส่วนประกอบของกำมะถันอยู่มาก เพราะฉะนั้นไม่เหมาะแก่การผสมในอาหารให้กับเจ้าตูบ เนื่องจากว่าสารกำมะถันนี้จะทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงของสุนัข จะทำให้โรคโลหิตจาง และโรคเลือดไหลไม่หยุดได้

          ช็อกโกแลต หลายคนเคยให้ช็อกโกแลตกับสัตว์เลี้ยงของท่าน โดยไม่รู้ว่าช็อกโกแลตเหล่านี้ส่งผลร้ายต่อสุนัข สาเหตุเพราะช็อกโกแลตมีส่วนประกอบของสารชนิดหนึ่งชื่อว่า Theobromine ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับสารพวก Caffeine (ซึ่งมีในพวกกาแฟ โกโก้) สาร Theobromine นี้เมื่ออยู่ในร่างกายมันจะมีฤทธิ์หลายอย่าง แต่ที่เห็นเด่นๆ ชัด คือ จะกระตุ้นให้มีการหลั่งสารที่เรียกกันว่า Adrenaline ซึ่งสารตัวนี้จะมีผลทำให้หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก ถ้ากินมากๆ อาจถึงขั้นเป็นพิษได้จะทำให้เกิดอาการอาเจียน ท้องเสีย หายใจถี่ ฉี่บ่อย กระวนกระวาย และในที่สุดก็ถึงตายได้


แหล่งที่มา  http://pet.kapook.com/view9326.html, thaidogcenter
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต